ไขข้อสงสัยภาพดอกไม้ในไลน์ แท้จริงผิด-ไม่ผิดลิขสิทธิ์..!?ภาพดอกไม้ คำคม คำอวยพร ถูกส่งต่อว่อนไลน์ ถือเป็นเทรนด์ฮิตของผู้สูงวัย จนหลายคนตั้งคำถามว่าภาพเหล่านั้นมาจากไหน ถูกลิขสิทธิ์หรือไม่หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดีย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกเพศทุกวัย แทบจะทุกเวลาก้มหน้าก้มตากดท่องโลกออนไลน์ โดยเฉพาะวัยรุ่น และวัยทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกัน แต่อย่ามองข้ามผู้สูงอายุไปยังมีผู้ใหญ่สูงวัยจำนวนไม่น้อยก็สนใจหันมาจับเทคโนโลยีเหล่านี้บ้าง
กลายเป็นกระแสเทรนด์ฮิตสำหรับเหล่าบรรดานักท่องโซเชียลสูงวัย อย่างการส่งภาพดอกไม้ทักทายกันยามเช้า คำคม คำอวยพรต่างๆ ในโซเชียลไลน์ จนถึงขณะนี้ก็ยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

โดยผู้ใหญ่หลายๆ คน มักพูดน้อย แต่เน้นการส่งภาพมาให้ เพื่อแทนคำพูด ส่วนใหญ่ภาพเหล่านั้นจะเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ คือแบ็คกราวน์รูปดอกไม้สีสดใส พร้อมคำคม หรือคำอวยพรตามเทศกาล ตั้งแต่อรุณสวัสดิ์ยามเช้า ไปจนถึงราตรีสวัสดิ์ยามค่ำคืน
ช่างมากมายและหลากหลาย จนใครหลายคนต่างตั้งข้อสงสัยว่า ภาพเหล่านั้นต้นตอที่แท้จริงมาจากไหน แล้วถูกลิขสิทธิ์หรือไม่?ซึ่งภาพดังกล่าว ถูกสันนิษฐานว่ามาจากเว็บไซต์ที่ถูกค้นหามากที่สุด อย่างกูเกิ้ล(Google) ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางนี้ และบางส่วนได้รับมาจากการส่งต่อแล้วเก็บรวบรวมไว้ และสติ๊กเกอร์ไลน์ก็สื่อความหมายได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแอพสำหรับแต่งภาพ เพื่อให้มือโปรทั้งหลายได้ทดลองใช้เองอีกด้วย
ขอบคุณภาพจาก evilaspireก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีข่าวลือในโซเชียลไลน์ของกลุ่มเครือญาติผู้ใหญ่ โดยได้เตือนให้งดการแชร์ภาพดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์
ทางทีมข่าว
MThai News จึงได้ตรวจสอบเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์กับทาง ปอท. ทำให้สามารถอธิบายข้อกฎหมายได้ ดังนี้
1.กฎหมายลิขสิทธิ์ มุ่งคุ้มครองงานสร้างสรรค์ของเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ ใน 2 กรณีคือ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ เพื่อมุ่งประสงค์ทางการค้าหรือหากำไร
ฉะนั้น ถ้าไม่ได้ทำ 3 อย่างนี้ ก็ไม่เป็นความผิด เช่น เราส่งรูปภาพกันทางไลน์ ในลักษณะติดต่อถึงกัน ไม่ใช่ค้าขาย หรือโฆษณาไม่ผิด เซฟไว้ครอบครองก็ไม่ผิด แต่ห้ามนำไปขาย
2. เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์แก้ไข กรณีส่งรูปภาพกันทางสื่อออนไลน์ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นกรณีไม่ได้ทำในกรอบ 3 อย่างข้างต้น ก็ไม่ผิดเช่นกัน
ดังนั้นชาวโซเชียลจึงไม่ต้องตกใจ เพราะที่แก้ไขใหม่นี้ มุ่งเน้นไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือบริการออนไลน์ จะต้องไม่รู้เห็นเป็นใจ หรือปกปิดการทำผิดของผู้ใช้บริการ หากกระทำอย่างนั้นถือว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นหากจะผิดหรือถูก ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลท่านว่าจะตัดสินออกมาเช่นไร
การส่งภาพดังกล่าวส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงวัยนิยมใช้นั้น เนื่องจากท่านหาความสดชื่นให้กับชีวิต ด้วยคำอวยพร ส่งความสุขให้กัน แม้อาจทำให้ลูกหลานรำคาญไปบ้าง แต่ภาพเหล่านี้ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใย ยิ่งถ้าผู้ส่งนั้นอยู่ห่างไกลกัน จะสามารถรับรู้ได้เลยว่าเขาคิดถึงเราอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญ และเห็นคุณค่าของคนในครอบครัวมากขึ้น
รุ่งฤดี ฤทธิสิทธิ์ เขียนขอบคุณข้อมูลจาก...http://news.mthai.com/hot-news/webmaster-talk/456341.html