ทริปน้องบู่บู๋ ตอน: โครงการอนุรักษ์พันธ์กล้วยไม้รองเท้านารีดอยอินทนนท์
6 ธันวาคม 2557
พิกัดGPS โครงการอนุรักษ์พันธ์กล้วยไม้รองเท้านารีดอยอินทนนท์ N18.58487 E98.51251
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริ
ในพื้นที่ภาคเหนือ (ขุนยวม)
อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปัจจุบัน “กล้วยไม้รองเท้านารี”ถือว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย ที่มีราคาแพงและหายาก เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทางกองทัพภาคที่ 3ได้เข้ามาดำเนินการสำรวจแหล่งกำเนิดกล้วยไม้รองเท้านารีในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าบริเวณดอยแม่สุริน ตำบลแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งยังมีกล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์อินทนนท์อยู่ในแหล่งธรรมชาติ จึงเริ่มดำเนินการโครงการในปีงบประมาณ 2536โดยกรมทหารราบที่ 7 ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 33โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนี้
1. การสืบขยายสายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์และพืชพันธุ์ไม้พื้นเมืองอื่นๆ
2. งานศีลปาชีพการทอผ้าพื้นเมืองและการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เชิงธุรกิจ
3. งานพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่โครงการ
4. งานการประชาสัมพันธ์
โครงการได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์อินทนนท์ เพื่อทำการขยายพันธุ์เพิ่มโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขั้นตอนการเพาะเมล็ดในสภาพที่ปลอดเชื้อ การย้ายต้นกล้าออกปลูกในโรงเรือนอนุบาล การอนุบาลต้นกล้าจนมีขนาดใหญ่แล้วย้ายไปปลูกในสภาพโรงเรือนและในสภาพป่าธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมในปีงบประมาณ 2547 กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบโอนหน้าที่ให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 17 (เดิม) และได้มอบหมายให้หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำแม่สะมาด อำเภอเมือง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาเพื่อสานโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ขุนยวม) อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์และแหล่งกำเนิดพันธุกรรม
2. เพื่อรวบรวมและขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าในพื้นที่เพื่อการศึกษาและการท่องเที่ยว
3.เพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์และกล้วยไม้ป่าตลอดจนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ในพื้นที่ดอยแม่สุริน ก่อให้เกิดความรัก หวงแหนในทรัพยากรที่เป็นสมบัติ อันล้ำค่า ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญต่อการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และเป็นแหล่งพันธุกรรมของพรรณพืชหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่สวยงาม หายากและผลิดอกปีละครั้ง ทางโครงการได้ให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์กล้วยไม้ โดยให้ช่วยกันนำพันธุ์ไปปลูกเลี้ยงและนำกลับคืนสู่ป่าดังเดิม และจะมีการขยายพันธุ์ไปยังพื้นที่ป่าส่วนอื่นๆ ส่งผลทำให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสความสวยงามความหลากหลายทายทางชีวภาพของธรรมชาติ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นพืชสกุลหนึ่งซึ่งทางวิชาการในสาขาพฤกษศาสตร์จัดไว้ในวงศ์กล้วยไม้ (Family Orchidaceas) ชื่อสกุล (Genus) Paphiopedilumซึ่งลักษณะของดอก นอกจากจะมีส่วนเกสรเพศผู้เป็น 2 อันยังมีกลีบเลี้ยงสองอันล่าง เชื่อมติดกันเป็นหนึ่งเดียว กล้วยไม้ทุกชนิดในวงศ์ย่อยนี้จะมีส่วนกลีบปากลักษณะคล้ายถุง (saccate) หรือทั่วไปดูว่าคล้ายส่วนหัวของรองเท้าสุภาพสตรี จึงทำให้มีชื่อสามัญว่า“Slipper Orchid” ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่า “กล้วยไม้รองเท้านารี”
ในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยไม้รองเท้านารีได้มีการค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า 55ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาตินับจากแนวเทือกเขาหิมาลัยลงมาสู่ตอนล่าง เช่นตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้, อินเดีย, พม่า, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยมีการค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า 17ชนิด
รองเท้านารีอินทนนท์ Paphiopedilum villosum (Ldl.) Pfitz .เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกลีบดอกหนา พื้นกลีบเป็นมันเงา พื้นดอกสีเหลืองปนน้ำตาล กลีบในทั้งคู่แต่ละกลีบมีเส้นแบ่งตามความยาวของกลีบทำให้รู้สึกว่าเป็นสองซีกซีกหนึ่งมีสีแก่กว่าอีกซีกหนึ่งก้านดอกยาวประมาณ 10-12 ซม. มีดอกเดี่ยว ดอกกว้างประมาณ 10-12 ซม.ให้ดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ พบขึ้นอยู่บนต้นไม้ใหญ่ บนภูเขาที่มีระดับสูงจากน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร เช่น ที่ดอยอินทนนท์และในทางภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น จังหวัดเลยและชัยภูมิ บริเวณภูหลวงและภูกระดึง เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดหนึ่งซึ่งในกลุ่มประเทศตะวันตกนำไปใช้ประโยชน์พื้นฐานการผสมพันธุ์มานานแล้วเนื่องจากแหล่งกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมิใช่มีเพียงแต่ในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
*ข้อมูลจากหนังสือ ระพี สาคริก กล้วยไม้รองเท้านารี วิธีปลูกเลี้ยงและปัญหาการอนุรักษ์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพรรณพืช อันเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ล้ำค่าของประเทศไทย ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะให้คนไทยทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญ คุณค่า
ความงาม ของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ และได้มีส่วนร่วมกันในการอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทยทุกชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของไทย ที่มีความหลากหลายและความงามอย่างโดดเด่น เพื่อให้คงอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังที่จะได้เห็น ชื่นชมและได้รู้จักกันสืบต่อไป และให้เป็นมรดกทางธรรมชาติอันล้ำค่าของประเทศตราบนานเท่านาน
สถานที่ตั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพ
อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่สุริน ท้องที่ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม และเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในระวางแผนที่ 4646 IV พิกัดที่ตั้งโครงการ 405455 E 2092900 N สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ1,350เมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสภาพป่าเป็นป่าดิบเขา เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญคือน้ำแม่สุริน และน้ำแม่สะมาด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน 1 ใน 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ ภูมิอากาศโดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปีโดย อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดอยู่ระหว่าง 4 – 30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ประมาณ 1,000 – 1,900 มิลลิเมตรต่อปี
ลักษณะทางปฐพีวิทยา ลักษณะดินเป็นกลุ่มดินดอนเกิดจากการผุพังของหินในบริเวณที่มีความลาดชันสูง และภายใต้สภาพป่าธรรมชาติเป็นดินลึกมีการสะสมอินทรียวัตถุเป็นจำนวนมาก ชั้นบนเป็นดินทราย ดินเหนียวและดินลูกรัง ตามธรรมชาติค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเอาพื้นที่ทำการเกษตรดินจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว บริเวณเทือกเขาสูงมีสภาพภูมิประเทศแบบลอนเขาหากไม่มีพืชปกคลุมจะเกิดการพังทลายอย่างรวดเร็วและรุนแรงจึงไม่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรควรสงวนไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
ลักษณะทางพืชพรรณ
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) ป่าชนิดนี้ส่วนใหญ่จะอยู่บนภูเขาสูงในระดับความสูงที่สูงกว่า 900เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าที่มีความชื้นสูงอากาศเย็นถึงอบอุ่น มีชั้นเรือนยอดหลายชั้น พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ในตระกูลก่อ เช่นก่อเดือย ก่อแป้น และมีพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่สำคัญคือ จำปีป่า ทะโล้ กำลังเสือโคร่ง ไม้พื้นล่างเป็นไม้พุ่มมักพบบริเวณช่องที่เรือนยอดชั้นบนไม่แน่นทึบมาก ได้แก่กำลังช้างสาร กุหลาบหิน พืชล้มลุกได้แก่ กระเจียวขาว ขมิ้นแดง พืชจำพวกเฟิน ม๊อส และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่หมูป่า เก้ง อีเห็น และนกป่าชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบสัตว์จำพวกลิง ค่าง ชะนี เต่าปูลู ฯลฯ
ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม
ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงมีอาชีพทางการเกษตรได้แก่การทำไร่ ทำนา ผลผลิตที่ได้ต่ำไม่เพียงพอแก่การบริโภคเนื่องจากพื้นที่ทำกินมีจำกัด ขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายสัตว์เลี้ยงและรับจ้างจากหน่วยงานของรัฐ ส่วนรายจ่ายจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุปโภค - บริโภค การจัดตั้งหมู่บ้านอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม ใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้าง มีบางหมู่บ้านที่ใช้วัสดุถาวรที่ทันสมัย ส่วนใหญ่มีทะเบียนบ้านถูกต้องตามลักษณะการปกครองท้องที่มีผู้นำชุมชนตามกฎหมาย การศึกษาพออ่านออกเขียนได้โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน การสุขาภิบาลค่อนข้างต่ำเนื่องจากไม่มีสถานพยาบาล ชุมชนที่อยู่อาศัยประกอบด้วย
1 ชุมชนบ้านหัวแม่สุริน หมู่ที่ 2 จำนวน 24 ครัวเรือน ประชากร 141 คน
2 ชุมชนบ้านหัวฮะ หมู่ที่ 2 จำนวน 19 ครัวเรือน ประชากร 123 คน
3 ชุมชนบ้านพะยอย หมู่ที่ 2 จำนวน 24 ครัวเรือน ประชากร 146 คน
4 ชุมชนบ้านกะโน หมู่ที่ 2 จำนวน 11 ครัวเรือน ประชากร 76 คน
เส้นทางคมนาคม
เส้นทางคมนาคมจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงที่ตั้งสำนักงานโครงการฯ โดยใช้เส้นทางคมนาคมทางหลวงหมายเลข 108จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอฮอด – อำเภอแม่สะเรียง ถึงอำเภอขุนยวม ระยะทาง 286 กิโลเมตร จากอำเภอขุนยวม แยกเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1263 ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าดอยแม่อูคอ ผ่านบ้านปางตอง - บ้านแม่อูคอ และวนอุทยานทุ่งบัวตอง ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร และแยกขวาถึงที่ตั้งสำนักงานโครงการฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 314 กิโลเมตรใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 7 ชม. และอีกเส้นทางหนึ่งจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านอำเภอจอมทอง –อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - อำเภอแม่แจ่ม โดยใช้เส้นทางสายปางอุ๋ง –ขุนยวม ผ่านวนอุทยานทุ่งบัวตองใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 5 ชม.
ข้อมูลพื้นฐาน
กล้วยไม้รองเท้านารี
รองเท้านารีหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lady’s slipper เป็นพืชสกุลหนึ่งซึ่งทางวิชาการในสาขาพฤกษศาสตร์จัดไว้ในวงศ์กล้วยไม้ (Family Orchidaceas) และให้ชื่อสกุล (Genus) ว่า Paphiopedilum ปกติสภาพธรรมชาติที่พบกล้วยไม้สกุลนี้ อยู่บนพื้นดินและพื้นหินซึ่งมีไม้ผุและหินผุปกคลุมเป็นชั้นหนาพอสมควร เนื่องจากระบบรากต้องการสภาพพื้นที่ซึ่งมีคุณสมบัติค่อนข้างโปร่งโดยมีอินทรียวัตถุเป็นหลักสำคัญ จะพบเพียงไม่กี่ชนิดที่อาศัยขึ้นบนพื้นผิวของกิ่งไม้ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา มีระดับพื้นที่สูงเหนือน้ำทะเลมากๆจึงยากแก่การนำมาปลูกในที่ราบต่ำซึ่งมีอากาศร้อน เนื่องจากบรรยากาศในแหล่งกำเนิดโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนมีสภาพค่อนข้างเย็นจัด
ในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยไม้รองเท้านารีได้มีการค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า 55ชนิดกระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาตินับจากแนวเทือกเขาหิมาลัยลงมาสู่ตอนล่าง เช่นตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้, อินเดีย, พม่า, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยมีการค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า 17ชนิด
รองเท้านารีอินทนนท์ Paphiopedilum villosum (Ldl.) Pfitz.
เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดหนึ่งที่พบขึ้นอยู่บนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งอยู่บนภูเขาที่มีระดับสูงจากน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร เช่นที่ดอยอินทนนท์ และดอยสูงๆ ในเขตจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสานเช่นจังหวัดเลยและชัยภูมิ เช่นบริเวณภูหลวงและภูกระดึง ก้านดอกยาวประมาณ 10 ถึง 12 ซม.มีดอกเดี่ยว ดอกกว้างประมาณ 10 ถึง 12 ซม.กลีบดอกหนา พื้นกลีบเป็นมันเงา พื้นดอกสีเหลืองปนน้ำตาล กลีบในทั้งคู่แต่ละกลีบมีเส้นแบ่งตามความยาวของกลีบ ทำให้รู้สึกว่าเป็นสองซีก ซีกหนึ่งมีสีแก่กว่าอีกซีกหนึ่งให้ดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดหนึ่งซึ่งในกลุ่มประเทศตะวันตกนำไปใช้ประโยชน์พื้นฐานการผสมพันธุ์มาช้านานแล้ว เนื่องจากแหล่งกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมิใช่มีเพียงแต่ในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
ที่มา...สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่)
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
http://www.fca16.com/newblog/blog.php?id=royalproject36

