อ่างพักน้ำตอนบน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา
ประวัติความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจากในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2482 บริเวณที่ราบในลุ่มน้ำลำตะคองตอนล่าง ในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ประชาชนจะปิดทำนบหรือหลุกเพื่อทดน้ำขึ้นไปใช้ แต่พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ยังคงขาดแคลนน้ำอยู่ กรมชลประทานจึงได้มีโครงการทดและส่งน้ำลำตะคองเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งลำตะคองในท้องที่อำเภอเมือง กับบางส่วนของอำเภอขามทะเลสอและเฉลิมพระเกียรติ โดยสร้างเป็นเขื่อนระบายน้ำขึ้น 9 แห่ง อยู่ในลำบริบูรณ์ 5 แห่ง คือ ที่บ้านโคกแฝก บ้านทุ่ง บ้านโพธิ์เตี้ย บ้านนาตม บ้านจอหอ และในลำตะคอง 4 แห่ง คือ บ้านมะขามเฒ่า บ้านคนชุม บ้านข่อยงาม และบ้านกันผม เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่รวมประมาณ 100,000 ไร่
การก่อสร้างได้เริ่มใน พ.ศ. 2482 และเริ่มส่งน้ำได้เมื่อเสร็จเป็นตอน ๆ ไป งานเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2500 สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 18,700,000 บาท หลังจากมีทางรถไฟไปถึงจังหวัดนครราชสีมา และได้ต่อไปยังบางจังหวัดบ้างแล้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟและเป็นแหล่งกลางของกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ กันดารน้ำ โดยเฉพาะน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ตัวจังหวัดซึ่งมีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น
ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำทางต้นน้ำของลำตะคอง ซึ่งเป็น 1 ใน 16 แห่ง ที่กรมชลประทานได้เลือกไว้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในที่ราบสองฝั่งลำน้ำ โดยได้เริ่มงานก่อสร้างเบื้องต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2507 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นค่าใช้จ่ายรวม 236 ล้านบาท
ที่อำเภอสูงเนิน ประชาชนได้ขุดคลองจากลำตะคองเพื่อส่งน้ำไปใช้ทำนา น้ำได้ไหลลงทางคลองที่ขุด กัดเซาะคลองกว้างขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ลำตะคองตอนใต้เขื่อนลงไปเริ่มตื้นเขิน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อไป กรมชลประทานจึงได้สร้างท่อปากคลองเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ส่งไปใช้ รวม 2 แห่ง ช่วยเหลือเนื้อที่เพาะปลูกได้ 6,000 ไร่ โดยได้เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2496 แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2499 สิ้นค่าใช้จ่าย 310,000 บาท ต่อมากรมชลประทานได้พิจารณาสร้างเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำพร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่ลำตะคองตอนบนเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ที่บ้านมะเกลือใหม่ และที่บ้านกุดหิน พร้อมระบบชลประทาน 27,540 ไร่ เริ่มก่อสร้างในปีพุทธศักราช 2523 แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2528
ที่มา : http://www.lamtakong.com/พิกัด N14.80126 , E101.556909
ดูที่ลูกศรสีเขียว