บริษัทประกันชีวิต ระวังไว้ ! โฆษณาเกินจริง-เจอโทษหนัก ปรับ 5 แสน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ บริษัทประกันชีวิตโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษปรับ 5 แสนบาท หลังเกิดกรณีปัญหาผู้สูงอายุซื้อประกันแบบไม่ต้องตรวจโรค
จากกรณีที่ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้มีการตรวจสอบบริษัทประกันชีวิต หลังจากมีผู้เข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการรับสิทธิจากบริษัทประกันชีวิตภาคเอกชน โดยเฉพาะกรณีที่มีการโฆษณาว่าผู้สูงอายุสามารถซื้อประกันสุขภาพได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ตามที่ได้มีรายงานไปแล้วนั้น [อ่านข่าว : จี้ตรวจสอบบริษัทประกันโฆษณาหลอกลวง ผู้สูงอายุไม่ต้องตรวจสุขภาพ]
โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย มาตรา 31 (15) ที่ระบุว่า ห้ามไม่ให้บริษัทกระทำการโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5 แสนบาท และหากยังฝ่าฝืนมีโทษปรับรายวันวันละ 2 หมื่นบาท
และในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองตามที่โฆษณาไว้ ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1 ) ระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดในการเสนอขาย มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทประกันชีวิตโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนนั้น แท้จริงแล้วในสัญญาได้ระบุว่า มีโรคใดบ้างที่ไม่ครอบคลุมหากผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคดังกล่าวก่อนแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ทำประกันไม่ได้อ่านให้ชัดเจน รวมทั้งหนังสือสัญญาเป็นภาษากฎหมาย ทำให้อ่านเข้าใจยาก คนจึงเลือกที่จะไม่อ่าน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจากการที่ตนเองให้นักศึกษาไปสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการทำสัญญาประกันชีวิต พบว่า สัญญาที่เขียนด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและกระชับมีประสิทธิภาพที่สุดจะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่ายคือบริษัทประกันชีวิตและผู้ทำประกันชีวิต
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ตนเองอยากเสนอให้ทาง คปภ. ออกหลักเกณฑ์หรือกฎหมายให้บริษัทประกันชีวิตเขียนสัญญาด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและต้องมีการบังคับให้มีการทำความเข้าใจตัวสัญญาก่อนตกลงทำประกันชีวิต และปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นทาง มพบ. ต้องออกมาให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากและการทำประกันชีวิตก็เหมือนการลงทุนอย่างหนึ่งที่มีระยะเวลานาน มูลค่าสูง ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
ด้าน นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวถึงหลักเกณฑ์การเลือกซื้อประกันของผู้สูงวัยว่า ต้องดูที่ความคุ้มครองและผลประโยชน์ของประกันว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ รวมทั้งศึกษาข้อยกเว้นและเงื่อนไขให้เข้าใจก่อนทำสัญญา และหากตกลงซื้อกรมธรรม์ไปแล้วทางบริษัทประกันจะส่งเล่มกรมธรรม์ไปให้เพื่อศึกษาทำความเข้าใจให้ละเอียดอีกครั้ง ถ้าพบว่าไม่ตรงกับความต้องการก็สามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยขอยกเลิกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้กรมธรรม์ในกรณีที่ซื้อผ่านทางโทรศัพท์ และขอยกเลิกภายใน 15 วัน ในกรณีที่ซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิต
ที่มา...http://health.kapook.com/view127690.html