อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (Doi Inthanon)
พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติดอยอนทนนท์ N18.53642 E98.52135
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อ พ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มอำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา" ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่) ดอยอ่างกา มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากยอดดอยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำแห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่าง ฝูงกาจำนวนมากมายมักพากันไปเล่นน้ำที่หนองน้ำแห่งนี้ จึงพากันเรียกว่า "อ่างกา" และภูเขาขนาดใหญ่แห่งนั้นก็เลยเรียกกันว่า "ดอยอ่างกา" แต่ก็มีบางกระแสกล่าวว่า คำว่า "อ่างกา" นั้น
แท้จริงแล้วมาจากภาษาปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) แปลว่า "ใหญ่" เพราะฉะนั้นคำว่า "ดอยอ่างกา" จึงแปลว่าดอยที่มีความใหญ่นั่นเอง ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูลบางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์" อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มีพื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6 ดังนี้ "เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดมีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยประกาศพระราชกฤษฎีกาด้วยบริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ"
ขนาดพื้นที่301184.06 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.1 (แม่กลาง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.2 (แม่แจ่ม)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.3 (แม่ยะ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.4 (แม่เตี๊ยะ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.5 (ยอดดอย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.6 (แม่วาก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.7 (แม่ตืน- แม่แตง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.8 (ดอยผาตั้ง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ อน.9 (ดอยขุนกลาง)
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมา คือ ยอดดอยหัวหมดหลวง สูง 2,330 เมตร ยอดดอยหัวหมดน้อย สูง 1,900 เมตร ยอดดอยหัวเสือ สูง1,881 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมน
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ให้กำเนิดแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่หอย ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่เตี๊ยะ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายทางด้านระดับความสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลักษณะของสภาพอากาศแบบเขตร้อนในตอนล่างของพื้นที่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา มีสภาพอากาศแบบกึ่งเขตร้อนในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรขึ้นไป
ในพื้นที่สูงตอนบนของอุทยานแห่งชาติ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0-4 องศาเซลเซียส และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้น ที่ระดับกลางของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพอากาศโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างเย็นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตร/ต่อปี สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,800 เมตรขึ้นไป จะมีสภาพอากาศที่เย็นและชุ่มฉ่ำอยู่ ทั้งนี้เพราะจะเป็นระดับความสูงของเมฆหมอก ทำให้สภาป่ามีเมฆและหมอกปกคลุมเกือบตลอดปี
พืชพันธุ์และสัตว์ป่าสังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถจำแนกออกเป็น
ป่าเต็งรัง พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ
ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น
ป่าดิบเขาตอนล่าง เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ดอยอิทนนท์จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ
ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น
สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว
สถานที่ท่องเที่ยวหมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่แอบในข้อมูลทั่วไป...
เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ ชมการดำนินชีวิตที่เรียบง่าย เช่น การทอผ้า การตำข้าว การขับกล่อมบทกลอน “ทา” “ซอ” การเล่นเตหน่า รำดาบ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น การเลี้ยงผีฝาย ผีนา เป็นต้น ในหมู่บ้านมีการบริการที่พักและกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Home Stay
หมู่บ้านม้งขุนยะน้อยข้อมูลทั่วไป...
เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรมม้ง บ้านขุนยะน้อย เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง จำนวนประมาณ 70 หลังคาเรือน อยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์จากพื้นที่สูงได้ไกล บริเวณโดยรอบหมู่บ้านมีสภาพป่าดิบเขาที่ยังคงความสมบูรณ์ และการอนุรักษ์ป่า “ดงเซ้ง” และต้นไม้ขนาดใหญ่ 7-8 คนโอบ
การดำเนินชีวิตของชาวเขาเผ่าม้งนี้ยังคงใช้วิถีชีวิตวัฒนธรรมเดิมๆ อยู่มาก เช่น การแต่งกาย การตีมีดแบบดั้งเดิม การโม่ข้าวหรือข้าวโพดด้วยโม่หิน การทำเหล้าข้าวโพด การสร้างบ้าน การทอผ้า และการจัดประเพณีต่างๆ เป็นต้น ในหมู่บ้านมีการบริการที่พักและกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Home Stay
น้ำตกแม่กลางข้อมูลทั่วไป...
น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี และมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ให้เล่นน้ำหลายแห่ง แต่ในช่วงฤดูฝนกระแสน้ำไหลแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อการเล่นน้ำ น้ำตกแม่กลางอยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ จากถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ประมาณ กม.ที่ 8 ก่อนถึงด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกแม่กลาง สามารถเดินลัดเลาะตามเส้นทางเดินไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากน้ำตกแม่กลางประมาณ 400 เมตร ผ่านเหมืองฝายและภาพเขียนสีผาคันนา
สภาพภูมิอากาศหน้าหนาวอากาศเย็นสบาย
หน้าร้อนอากาศร้อน เหมาะแก่การเล่นน้ำ
น้ำตกแม่ยะข้อมูลทั่วไป...
น้ำตกแม่ยะ อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยแม่ยะ ไหลลดหลั่นลงมาถึง 30 ชั้น รวมความสูงประมาณ 260 เมตร จนกล่าวกันว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดของประเทศ ในช่วงฤดูฝนสายน้ำตกจะแผ่กว้างถึง 100 เมตร ฤดูแล้งปริมาณน้ำอาจลดน้อยลง แต่สายน้ำตกจะใสสะอาดกว่า น้ำตกแม่ยะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เมื่อเข้าสู่ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ได้ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ ป่าเต็งรัง + ป่าเบญจพรรณ
น้ำตกวังควายข้อมูลทั่วไป...
น้ำตกวังควาย เป็นน้ำตกที่นักท่องเที่ยวนิยมพาบุตรหลานมาลงเล่น สายน้ำอันเย็นฉ่ำไหลลงเซาะลดเลี้ยวตามลานหินขนาดใหญ่ ลดหลั่นเป็นชั้น พื้นน้ำเป็นทรายเม็ดเล็กละเอียด
การเดินทาง การเดินทางสู่น้ำตกวังควาย มีระยะทางประมาณ 67.7 กิโลเมตร โดยเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่ ? ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดจอมทอง เลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนจอมทอง - อินทนนท์ ระยะทางประมาณ 9.7 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก ลานจอดเป็นลานดินกว้างๆ ติดถนนลาดยางสามารถจอดรถยนต์ส่วนบุคคลได้ประมาณ 30 คัน
มีร้านอาหารบริการ ข้าวเหนียวไก่ย่าง ส้มตำ ในช่วงเทศกาล
ใช้ห้องน้ำที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณน้ำตก
ถ้ำบริจินดาข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ใกล้น้ำตกแม่กลาง ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ?นมผา? และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการ นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุแสงสว่างลอดเข้ามาได้ สามารถมองเห็นภายในได้ถนัด ก่อนจะถึงปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่
การเดินทาง
การเดินทางสู่ถ้ำบริจินดา มีระยะทางประมาณ 66.8 กิโลเมตร โดยเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่ ? ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดจอมทอง เลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนจอมทอง - อินทนนท์ ระยะทางประมาณ 8.8 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 100 เมตร เส้นทางจะเป็นทางดินและมีหินโผล่ขึ้นมาตามถนนบ้าง รถวิ่งได้ แต่รถพื้นที่เตี้ยไม่แนะนำ เมื่อเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกไปถ้ำบริจินดา ทางขวามือ หากตรงไปจะมีบ้านคนและสวนผลไม้
ผาแง่มน้อยข้อมูลทั่วไป
แง่ม เป็นภาษาประจำถิ่นของภาคเหนือ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ง่าม ในภาษาไทย เป็นคำนามใช้เรียกลักษณะหรือสิ่งที่แยกออกเป็น 2 หรือ 3 ผาแง่มน้อยเป็นหิน 2 แท่ง ตั้งอยู่คู่กันริมเส้นทางเดินชมธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่บริเวณพิกัด 445013 E และ 2051990 N
หินที่ประกอบขึ้นเป็นผาแง่มน้อยได้แก่หินแกรนิตเนื้อปานกลาง (medium granite) ยุคไทรแอสซิก (Triassic) มีอายุประมาณ 200 บ้านปีมาแล้ว หินแกรนิตในบริเวณนี้เกิดจากหินหลอมเหลว (magma) ที่ดันตัวตัดผ่านหินไนส์ (gneiss) ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 530 ล้านปี ยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) เมื่อหินหลอมเหลวที่ยังอยู่ใต้ผิวโลกเย็นตัวลง มวลของหินแกรนิตมีการหดตัวและปรากฏรอยแตก (fracture) บริเวณขอบของมวลหิน
เมื่อเวลาผ่านไปเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นคือ กระบวนการก่อเทือกเขา (orogeny) ทำให้ผิวโลกมีการยกตัวขึ้นเป็นภูเขา ปรากฏการณ์ที่สำคัญต่อมาหลังจากที่หินปรากฏบนผิวโลกคือการผุพังอยู่กับที่ (weathering) และการกัดกร่อน (erosion) หินแกรนิตเกิดจากแร่ประกอบหินหลายชนิด เช่น ควอรตซ์ (quartz) เฟลด์สปาร์ (feldspar) ไบโอไทต์ (biotite) และมัสโคไวท์ (muscovite) แร่ประกอบหินแต่ละชนิดมีอัตราการผุพังที่ต่างกัน เช่น แร่เฟลด์สปาร์ จะผุพังง่าย และเร็วกว่าแร่ควอรตซ์
ผาแง่มน้อยเป็นหินแกรนิตเช่นเดียวกับหินที่อยู่ข้างเคียง แต่เนื้อหินของผาแง่มน้อยมีปริมาณแร่ควอรตซ์มากกว่าหินที่อยู่ข้างเคียงและหินข้างเคียงก็มีปริมาณแร่เฟลด์สปาร์ที่มากกว่าหินส่วนที่เป็นหน้าผา ผาแง่มน้อยจึงเป็นผลลัพธ์ของความต่างของอัตราเร็วในการผุพัง โดยส่วนที่เป็นผาแง่มน้อยมีความทนทานต่อการผุพังมากกว่าหินที่อยู่ข้างเคียง นอกจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับความถี่ของรอยแตกที่หินข้างเคียงมีมากกว่าหินส่วนที่เป็นผาแง่มนี้ด้วย
น้ำตกวชิรธารข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ ?ตาดฆ้องโยง? ภายหลัง ได้เปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า ?ผาม่อนแก้ว? หรือในภายหลังเรียกว่า ?ผาแว่นแก้ว?
การเดินทาง
น้ำตกวชิรธาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 81.2 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 20.7 กิโลเมตร เจอทางแยกไปยังน้ำตก มีทางแยกขวามือ ขับรถไปตามถนนที่คดเคี้ยวลงไปอีกประมาณ 250 เมตร จึงถึงน้ำตกวชิรธาร
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีร้านอาหาร/ร้านค้าที่มีความสะอาดคอยบริการ
สภาพถนนทางเข้ามีความลาดชัน ผิวถนนขรุขระ สามารถเข้าได้เฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ โดยต้องใช้ความระวังระวัง
ลานจอดรถเป็นลานหินบด สามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 50 คัน
มีห้องน้ำแยกชายและหญิง สภาพมีความสะอาดดี
น้ำตกสิริธารข้อมูลทั่วไป...
เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อว่า ?น้ำตกป่าคา? ซึ่งเป็นน้ำตกที่ไหลมาจากลำน้ำแม่กลาง บริเวณเทือกเขาดอยอินทนนท์ และไหลลงสู่น้ำแม่ปิงที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตร ทรงพระราชทานนามน้ำตกว่า ?น้ำตกสิริธาร? น้ำตกนี้อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 22 เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากผาหินขนาดใหญ่มีความสูงของน้ำตกประมาณ 50 เมตรจากฐานไหลลดหลั่นกันลงมาเป็น 2 ชั้นต่อกันอย่างสวยงามมาก และมีปริมาณน้ำมากและไหลแรงตลอดทั้งปี สามารถได้ยินเสียงของน้ำตกในระยะไกล ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ประมาณ 870 เมตร และเปิดเป็นนักท่องเที่ยวใหม่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2545เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศนิยมมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อชมความสวยงามของน้ำตกที่ไหลลงมาจากผาหินขนาดใหญ่แล้ว ลำน้ำสายนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลางและอำเภอจอมทอง ที่ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดเช่น กบ เขียด ปลาหลายชนิดและปลาที่หายาก เช่นปลาค้างคาว ซึ่งเป็นปลาที่ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreoglanis siamensis อันเป็นเกียรติ์แก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน
ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรังผสมสนเขาและป่าดิบแล้ง พืชพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ สนสามใบ, เต็ง, รัง, เก็ด, ยาง และกล้วยไม้หลากพันธุ์ เป็นต้น มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งพืชอาหารที่สำคัญของคนและสัตว์ป่าเช่น มะเดื่อป่ากล้วยป่า หน่อไม้ หวาย หน่อกุ้ง มะเขือพวง ใบบัวบก ผักกูด ผักหวาน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญ เช่น กำลังช้างสาร ฮ่อสะพายควาย กำลังเสือโคร่ง ขมิ้นดอย โด่ไม่รู้ล้มแก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ เฒ่าลืมเท้าสำหรับผู้สูงอายุแก้ปวดหลัง เอวปวด ปวดข้อ และแมลงที่สามารถรับประทานได้ เห็ดลม เห็ดมัน, เห็ดขอน เห็ดหูหนู ผักขี้ขวง ผักหวาน ผักฮ้วนหมู ตูน ขี้เหล็กเทศ ผักอีปู่ลืมแกง มะระบ้าน มะไห่ ผังเชียงดา ผักหนาม ผักทองหลาง ชะอม ผักเพ็ด ผักปูลิงหรือ ชะพลู ผักคออ่อน ดอกหิน หน่อไม้สีสุก กล่ำแดงหรือช้ามะยมดอย ใช้รากต้มบำรุงร่างกาย สามร้อยยอด หนวดปลาหมึกหรือมือพระนารายณ์ ไข่มดแดง หน่อกุ๊ก หน่อหวาย หน่อไม้ไร่ มะเดื่อหลวง ปลีกล้วยป่า ม้าสามตอนเป็นยาชูกำลัง กำลังเสือโคร่งแก้ปวดเมื่อย กำลังช้างเผือกใช้บำรุงร่างกาย นอนหลับสบาย ต้นขมิ้นดงแก้ไข้ ลดไข้มาลาเรีย ใบบัวบกแก้ช้ำใน มะเขือพวง มีพวกหนอนและแมลงอาหารจำนวนมากเช่น หนอนไม้ไผ่ หนอนไหม แมงจั๊กกะจั่น แมงกุ๊ดจี่ แมงจิ้งหรีด แมงจิ้งโก่ง
การเดินทาง
น้ำตกสิริธาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 81 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 23 กิโลเมตร มีทางแยกเป็นถนนดินลงไปทางซ้ายมืออีกประมาณ 100 เมตร จึงถึงจุดชมวิวน้ำตกสิริธาร
น้ำตกผาดอกเสี้ยวข้อมูลทั่วไป...
ติดต่อเดินได้ที่บ้านแม่กลางหลวง (ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) กม. 26
เดินตามเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกชั้นแรก เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องรักจัง เป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่งทีเดียว
น้ำตกสิริภูมิข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
น้ำตกสิริภูมิ เป็นน้ำตกคู่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันเป็นทางยาวสวยงามมาก เดิมเรียกว่า ?เลาลึ? ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน น้ำตกสิริภูมิ มีการจัดภูมิทัศน์ สวนหลวงสิริภูมิ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม คนละ 20 บาท
การเดินทาง
น้ำตกสิริภูมิ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 91.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 31.5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก
ลานจอดรถลาดยาง สามารถจอดรถยนต์ส่วนบุคคลได้ประมาณ 20 คัน
มีห้องน้ำบริการ 4 ห้อง สถาพมีความสะอาดดี
น้ำตกแม่ปานข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
จากธรรมชาติที่ลึกของป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ จะเห็นสายน้ำที่ไหลผ่านภูผาถึง 4 ชั้น ล้อมรอบด้วยป่าเขียวขจีตัวน้ำตกมีความสูงมากกว่า 100 เมตร สามารถมองเห็นได้จากจุดชมวิวระยะไกล จากบริเวณที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ฯ อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกแม่ปาน) หรือเดินเท้าไปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาสำราญ (น้ำตกแม่ปาน-ห้วยทรายเหลือง) ระยะทางประมาณ 400 เมตร
การเดินทาง
น้ำตกแม่ปาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 105.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 39 กิโลเมตร มีทางแยกไปอำเภอแม่แจ่ม ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายดอยอินทนนท์ ? แม่แจ่ม อีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกห้วยทรายเหลือง การเดินทางสู่น้ำตกแม่ปาน อาจลำบากสักนิด ต้องจอดรถไว้บริเวณลานจอดรถน้ำตกห้วยทรายเหลือง แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 10 นาที จึงจะถึง
น้ำตกห้วยทรายเหลืองข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
น้ำตกทรายเหลือง เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้ที่พักแรมมากที่สุด อดีตกาลเม็ดทรายสีเหลืองไหลมากับสายน้ำยามฝน ดุจดั่งเม็ดทองคำอันเลอล้ำค่า
การเดินทาง
น้ำตกห้วยทรายเหลือง ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 105.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 39 กิโลเมตร มีทางแยกไปอำเภอแม่แจ่ม ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายดอยอินทนนท์ ? แม่แจ่ม อีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปที่หน่วยพิทักษ์ฯ อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกแม่ปาน) และน้ำตกห้วยทรายเหลือง อีกประมาณ 2 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีอาคารค่ายพักแรมถาวรสำหรับหมู่คณะที่สนใจศึกษาธรรมชาติ รองรับจำนวนผู้เข้าพักได้ 80 ? 100 คน มีการบรรยายพิเศษ กิจกรรมกลุ่มศึกษาธรรมชาติ และการเข้าค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อม ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.00 ? 21.00 น.
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้น เป็นวงรอบระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเดินที่ผ่านแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ช่วงแรกเป็นป่าดิบชื้นมีมอส และเฟิร์นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามลำต้นของไม้ใหญ่ที่แข่งขันกันเติบโตเพื่อรับแสงอาทิตย์ หลังจากผ่านดงทึบของป่าดิบเขา จึงเข้าสู่ช่วงของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ที่คอยเปลี่ยนสีจากสีเขียวขจึในช่วงฤดูฝนสลับกับสีน้ำตาลอ่อนอย่างพรั่งพร้อมในช่วงฤดูแล้ง เห็นไอหมอกเมฆไหลมาอยู่เบื้องหน้าซึ่งคาดไม่ถึงเลยว่าจะอยู่หลังม่านอันหนาทึบ หากสังเกตดีๆ ตามทางเดินจะพบมูลหรือรอยขุดคุ้ยหาอาหารของสัตว์ป่า เมื่อเราออกเดินทางต่อจะพบกับต้นกุหลาบพันปีแดงขึ้นอยู่ตามหน้าผาเป็นดงกว้างจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ จะพากันผลิดอกเบ่งบานในช่วงเดือนมกราคม ? มีนาคม พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถือเป็นลักษณะเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ แล้วจึงวกกลับเข้าสู่ป่าดิบเขาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเดินช่วงสุดท้าย จะต้องเดินลงสู่ลำห้วยแม่ปาน ที่ไหลลดเลี้ยวมาจากบริเวณที่ข้ามมาในช่วงต้น
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน สามารถวนรอบไปกลับในวันเดียว ตามหนทางจะผ่านไปสู่ป่าดงดิบริมธารน้ำ ขึ้นเนินผ่านป่าที่ห้อยระย้าด้วยมอส ฝอยลม ในยามหน้าฝนจะถูกปกคลุมด้วยหมอกขาวและอากาศที่หนาวเย็น สุดปลายทางที่ทุ่งหญ้าบนเนินที่ดารดาษด้วยดอกไม้ตามพื้น เช่น หนาดเขาสีขาวเป็นตุ่ม ๆ ส้มแปะ และดอกไม้ป่าสีเหลือง ม่วง ขาว อีกหลายชนิด เช่น บัวทองอินทนนท์ ไวโอเล็ต เป็นต้น
การเดินทาง
การเดินทางสู่ยอดดอยอินทนนท์ มีระยะทางประมาณ 101.7 กิโลเมตร โดยเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่ ? ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดจอมทอง เลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนจอมทอง - อินทนนท์ ระยะทางประมาณ 43.7 กิโลเมตร
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกาข้อมูลทั่วไป...
1.ประตูสู่หิมาลัย
จากย่างก้าวนี้ ท่านกำลังจะเข้าสู่ดินแดนหิมาลัยที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงลดหลั่นกัน ทำให้ยอดดอยอินทนนท์และบริเวณนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ได้รับอิทธิพลจากอากาศที่หนาวเย็น และมีพืชพรรณในเขตอบอุ่นขึ้นอยู่อย่างมากมาย เช่น กุหลาบพันปี ก่วมขาว โพธิ์สามหาง พญาไม้ พญามะขามป้อมดง และพืชในวงศ์ก่อ เป็นต้น
2.เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
เส้นทางนี้เป็นสะพานไม้ มีความยาวประมาณ 360 เมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 30 นาที และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2,500 เมตร สามารถเรียกได้ว่า เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่อยู่สูงที่สุดของประเทศไทย โดยมีสภาพแวดล้อมอันเยือกเย็นชุ่มชื้นตลอดปี เนื่องจากเป็นป่าดิบเขาเขขตอบอุ่น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น
3.ระบบนิเวศบริเวณอ่างกา
บริเวณนี้เป็นป่าดงดิบในเขตอบอุ่นที่มีระบบนิเวศเป็นแบบพิเศษ กล่าวคือ กลางป่าจะเป็นแอ่งน้ำซับที่มีลักษณะเป็นพรุในเขตอบอุ่น มีการทับถมของเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้ และมอสที่ไม่ผุสลายตัวอย่างสมบูรณ์ มีอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี เนื่องจากเป็นเขตที่มีระบบนิเวศแบบพิเศษนี่เองจึงทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์หายากหลายชนิด เช่น กุหลาบพันปี, ข้าวตอกฤาษี, เฟิร์นชนิดต่างๆ หนูผีอ่างกา หนูน้ำดอยอ่างกา และนกกินปลีหางยาวเขียว เป็นต้น
4.ข้าวตอกฤาษี
ข้าวตอกฤาษี พืชไร้ดอกจำพวกมอส มีขนาดใหญ่ เจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง และสภาพเหนือผิวดินปกคลุมด้วยหมอกหนาทึบ ซึ่งหาดูได้ยาก ไม่อาจพบเห็นได้ทั่วไปนอกจากบริเวณหุบเขาที่อยู่ในมุมอับแสง หรือบนภูเขาสูงกว่า 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ซึ่งที่นี่ท่านจะได้ชมชีวิตอันงดงามละเอียดอ่อนของข้าวตอกฤาษีได้อย่างสะดวกที่สุด
5.กุหลาบพันปี
กุหลาบพันปี เป็นพืชที่แตกต่างจากต้นกุหลาบโดยทั่วไปที่เรารู้จัก ชอบขึ้นในบริเวณที่มีลักษณะเป็นผาหิน หน้าดินน้อย อากาศชื้นและหนาวเย็นตลอดปี เป็นพันธุ์ไม้รุ่นบุกเบิก ที่ดอยอินทนนท์มีอยู่สามชนิด ชนิดที่มีดอกสีแดงคนท้องถิ่นเรียกว่า “ คำแดง ” ซึ่งจะพบขึ้นอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยเฉพาะบนดอยอินทนนท์เท่านั้น อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีดอกสีขาว ขนาดใหญ่กว่าดอกสีแดง ชนิดสุดท้ายมีดอกสีขาวเช่นกัน แต่ดอกเล็กกว่า และเป็นพืชอิงอาศัยอยู่บนลำต้นของพืชอื่น
6.พรรณไม้เด่นบริเวณ “อ่างกา”
ป่าบริเวณนี้เป็นป่าดิบเขาระดับสูง มีเรือนยอดปกคลุมพื้นป่ามากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ในบริเวณนี้มีทั้งพันธุ์ไม้ในเขตอบอุ่นและพันธุ์ไม้ในเขตร้อน ไม้ต้นที่เด่นๆ ที่ท่านจะพบเห็นได้ในบริเวณนี้ได้แก่ พันธุ์ไม้ในวงศ์ก่อ ทะโล้ และหว้า ท่านลองสำรวจดูรอบๆ ตัวท่าน ท่านพบต้นไม้ชนิดใดบ้าง
7.อิงอาศัย
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศย่อมต้องมีความสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ อาทิเช่น ความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์แบบที่สิ่งหนึ่งได้รับประโยชน์แต่อีกสิ่งหนึ่งเสียประโยชน์ และความสัมพันธ์แบบสิ่งหนึ่งได้ประโยชน์แต่อีกสิ่งหนึ่งไม่ได้ประโยชน์แต่ก็ไม่เสียประโยชน์แต่อย่างใด ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีมอส เฟิน และสำเภาลมเกาะอยู่รอบลำต้นที่ท่านเห็นอยู่นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการอิงอาศัยแบบได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน มอส เฟินและสำเภาลมได้ที่อยู่สำหรับการเจริญเติบโต ต้นไม้ก็ได้พวกมอส เฟินและสำเภาลมเป็นตัวคอยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้แก่ลำต้น
8.วิหคไพร
นกที่นี่มีมากถึง 385 ชนิด จาก 978 ชนิดของนกที่มีการพบในประเทศไทย และในบริเวณนี้ท่านจะสามารถพบนกได้ทั้งที่หากินบนพื้นดิน ตามริมน้ำ หากินตามต้นไม้ กิ่งก้านต้นไม้ และหากินบนเรือนยอด ที่นี่ท่านจะพบกับนกประจำถิ่น อาทิ เช่น นกกินปลีหางยาวเขียวชนิดย่อย ankanensis ซึ่งพบได้ที่เดียวในโลก นกกระจิ๊ดคอสีเทา ซึ่งพบได้ที่เดียวในประเทศไทย ข้อสำคัญที่สุดที่ท่านจะมีโอกาสพบนกป่าเหล่านี้คือ ท่านต้องเงียบและทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัวให้มากที่สุด
9.ภูมิอากาศท้องถิ่น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างบนยอดดอยอินทนนท์กับพื้นที่เชิงดอยคือ การมีเมฆหมอกที่ปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี และอุณหภูมิความหนาวเย็นที่แตกต่างกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากความสูงของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิลดลง ความสูงของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 เมตร จะทำให้อุณหภูมิลดลงประมาณ 0.6-1 องศาเซลเซียส
10.ต้นกำเนิดน้ำ
ในขณะที่มีฝนตก เรือนยอด กิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้จะเป็นตัวลดความแรงของเม็ดฝนที่จะตกลงมากระทบกับผิวดิน รากไม้ที่แผ่กระจายไปทั่วผืนดินจะเป็นตัวช่วยให้น้ำซึมลงไปในดินได้ดีพร้อมทั้งช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน เมื่อยามหมดฤดูฝนผืนดินที่ป่าปกคลุมก็จะค่อยๆ ระบายน้ำออกมารวมกันเป็นธารน้ำเล็กๆ มากมาย ธารน้ำเล็กๆ ที่ท่านเห็นอยู่นี่แหละเป็นต้นกำเนิดน้ำที่ส่วนหนึ่งไหลไปเป็นแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งจะไหลไปลงแม่น้ำปิง และรวมกับแม่น้ำอื่นๆ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด
11.คุณค่านิรันดร
องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมจะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ถ้ากล่าวถึงต้นไม้ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วต้นไม้แห้งและขอนไม้แห้งบริเวณนี้ ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมอสและพันธุ์พืชบางชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงปีกแข็งและพันธุ์สัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด เมื่อเวลาผ่านไปหลายฤดูกาลก็จะผุพังเพิ่มอินทรียสารให้แก่ดิน ยังประโยชน์แก่พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียง นี่คือวัฎจักรแห่งคุณค่าอันไม่มีหมดสิ้นของต้นไม้ ซึ่งเป็นมรดกอันมีค่า ที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลานในวันข้างหน้าต่อไป
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติพันธุ์ชุลีข้อมูลทั่วไป...
เส้นทางศึกษาธรรมชาติพันชุลี มีระยะทางประมาณ 203 เมตร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,700 เมตร เป็นป่าดิบเขา มีสภาพป่าเป็นป่าเมฆ(cloud forest) เนื่องจากเป็นป่าที่อยู่ในระดับสูงที่มีเมฆหมอกปกคลุมหนาแน่นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีอากาศเย็นสบายและชื้นฉ่ำ ความสูงของพื้นที่เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมพืชบนภูเขาสูง ทำให้ลักษณะโครงสร้างของป่าเมฆมีเรือนยอดชั้นบนเบียดชิดกันแน่น เรือนยอดชั้นรองส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน ลำต้นของไม้ป่าจะถูกห่อหุ้มอย่างหนาแน่นด้วย ไลเคน มอส เฟิร์น ไม้อิงอาศัย และกล้วยไม้ เช่น กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ กล้วยไม้ในสกุล Cymbidium และกล้วยไม้ในสกุล Dendrobium เป็นต้น พันธุ์ไม้เด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไม้ในวงศ์ก่อ (FAGACEAE), ไม้หอม(LAURACEAE), เหมือด, ทะโล้, ซิบะดุ หรือพันชุลี (Mastixia) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในผืนป่าดอยอินทนนท์แห่งนี้ ด้วยพืชพรรณที่มีความเฉพาะถิ่นและหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกซึ่งมีมากเกือบ 400 ชนิด จากจำนวนกว่า 900 ชนิดในประเทศไทย ได้แก่ นกหางรำดำ, นกพญาไฟ, นกปีกแพรสีเขียว, นกติ๊ดแก้มเหลือง, นกเดินดงอกลาย, นกกระรองทองแก้มขาว เป็นต้น และสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น เก้ง กวาง หมี และพญากระรอก เป็นต้น
เส้นทางศึกษาธรรมชาติพันชุลี มีระยะทางประมาณ 203 เมตร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,700 เมตร เป็นป่าดิบเขา มีสภาพป่าเป็นป่าเมฆ(cloud forest) เนื่องจากเป็นป่าที่อยู่ในระดับสูงที่มีเมฆหมอกปกคลุมหนาแน่นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีอากาศเย็นสบายและชื้นฉ่ำ ความสูงของพื้นที่เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมพืชบนภูเขาสูง ทำให้ลักษณะโครงสร้างของป่าเมฆมีเรือนยอดชั้นบนเบียดชิดกันแน่น เรือนยอดชั้นรองส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน ลำต้นของไม้ป่าจะถูกห่อหุ้มอย่างหนาแน่นด้วย ไลเคน มอส เฟิร์น ไม้อิงอาศัย และกล้วยไม้ เช่น กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ กล้วยไม้ในสกุล Cymbidium และกล้วยไม้ในสกุล Dendrobium เป็นต้น พันธุ์ไม้เด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไม้ในวงศ์ก่อ (FAGACEAE), ไม้หอม(LAURACEAE), เหมือด, ทะโล้, ซิบะดุ หรือพันชุลี (Mastixia) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในผืนป่าดอยอินทนนท์แห่งนี้ ด้วยพืชพรรณที่มีความเฉพาะถิ่นและหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกซึ่งมีมากเกือบ 400 ชนิด จากจำนวนกว่า 900 ชนิดในประเทศไทย ได้แก่ นกหางรำดำ, นกพญาไฟ, นกปีกแพรสีเขียว, นกติ๊ดแก้มเหลือง, นกเดินดงอกลาย, นกกระรองทองแก้มขาว เป็นต้น และสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น เก้ง กวาง หมี และพญากระรอก เป็นต้น
ความสำคัญ
ผืนป่าแห่งนี้นอกจากเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเป็นศึกษาธรรมชาติที่สำคัญแล้วยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำหรือแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่แจ่มที่ไหลลงสู่น้ำแม่ปิง อันเป็นน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากทำให้มีเมฆหมอกพัดผ่านผืนป่าและเกิดการตกกระทบเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ตามใบไม้ เรือนยอด และค่อยๆไหลไปตามลำต้นอย่างช้าๆ บางส่วนซึมลงสู่ดิน บางส่วนไหลลงสู่ลำห้วย และบางส่วนต้นไม้ดูดไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่ซึมลงดินจะช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่มีมากในฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,000 มิลลิเมตรต่อปีและจะค่อยปล่อยออกมาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างสูงในการป้องกันอุทกภัย และความแห้งแล้ง นอกจากนี้ผืนป่าขนาดใหญ่ยังมีรากไม้ที่สานกันแน่นยึดเกาะเนื้อดินไว้ ช่วยป้องกันการเกิดดินถล่มหรือโคลนถล่มได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
พระมหาธาตุเจดีย์ฯข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
เป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมใจสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2530 และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยรอบบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างชัดเจน พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ มีฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา
การเดินทาง
พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 101 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 108 (เชียงใหม่ ? ฮอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 (สายจอมทอง ? ดอยอินทนนท์) ประมาณ 43 กิโลเมตร
สถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ข้อมูลทั่วไป...
เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตรยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำไร่เลื่อนลอย มาทำการเกษตรในพื้นที่ถาวร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้งหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งของสถานีหลักประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อดำเนินงาน ด้านการวิจัยและการผลิตไม้ผลเมืองหนาว ไม้ผลกึ่งเขตร้อน และพืชไร่ต่าง ๆ
ค่าธรรมเนียมการเข้าชม คนละ 20 บาท
วัตถุประสงค์ของสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์
1. เพื่อให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่งทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
2. นำพืชเศรษฐกิจส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น
3. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ให้แก่ชาวเขา เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ เพิ่มรายได้ต่อครอบครัว และลดการใช้พื้นที่ในการทำเกษตร
4. เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความรู้แก่ชาวเขาในเรื่องการใช้ที่ดิน พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตรก็ให้ฟื้นสภาพป่าคืนมา ส่วนพื้นที่ลาดชันพอที่จะทำการเกษตรได้ ก็ให้ปลูกไม้ยืนต้นและปลูกพืชแบบขั้นบันไดเพื่อลดการชะล้างหน้าดิน ส่วนพื้นที่ที่ไม่ลาดชัน ก็ให้ปลูกพืชผักหรือไม้ดอกหมุนเวียน
สถานที่ตั้ง
สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อยู่ในเขตหมู่บ้านขุนกลาง หมู่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงสถานีประมาณ 90 กิโลเมตร โดยถนนเชียงใหม่-ฮอด และแยกขึ้นดอยอินทนนท์ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 ชั่วโมง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,500 เมตร อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส
ลักษณะทางกายภาพ
เป็นหุบเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 10-60 เปอร์เซ็นต์ แนวเขาที่ทอดไปในแนวสันชัน แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยจะผันน้ำแม่ปิงทางทิศตะวันออก และลงสู่แม่น้ำแม่แจ่มทางทิศตะวันตก จำนวนพื้นที่ของสถานีรวม 777 ไร่ แบ่งเป็นสถานีหลักมี 62 ไร่ หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง 489 ไร่ หน่วยแม่ยะน้อย 115 ไร่ และหน่วนดอยผาตั้ง 111 ไร่ มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบจำนวน 15 กลุ่มบ้าน ราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงและเผ่าม้ง
ลักษณะการดำเนินงาน
1. งานวิจัย
1.1 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์)
1.1.1 งานวิจัยไม้ดอก ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องการผสมพันธุ์หน้าวัว , เยอร์บีร่าเพื่อตัดดอก , การศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ , การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การนำพันธุ์พืชจากต่างประเทศเพื่อการเป็นไม้ตัดดอกชนิดใหม่ เช่น Feersia, Amaryllis, Daffodil
1.1.2 งานวิจัยผัก มีการนำเทคนิคการปลูกผักแบบใหม่มาทดสอบ เช่น การปลูกผักโดยการให้ปุ๋ยทางน้ำ (Fertigation) ผักไฮโดรโพนิค และงานวิจัยผักชนิดใหม่ เช่น อาร์ติโชค
1.1.3 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ลินิน ซึ่งปลูกช่วงเดือนกันยายน และธันวาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงที่ลินินออกดอก จะมีสีม่วงสวยงามทั่วทุ่งลินิน
1.1.4 งานวิจัยสตรอเบอรี่ ได้แก่ การคัดเลือกสายพันธุ์ การกำจัดโรคแมลง
1.1.5 งานวิจัยปลาเรนโบว์เทราท์ ซึ่งดำเนินการโดยงานวิจัยประมงบนที่สูง ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่
1.2 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง
1.2.1 งานวิจัยไม้ผล ได้แก่ พีช, พลัม, สาลี่, บ๊วย, อโวคาโด, กีวีฟรุต, ราสเบอรี่ เนคทารีน และองุ่นไม่มีเมล็ด
1.2.2 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ ลินิน , มันฝรั่ง
1.3 งานวิจัยหน่วยดอยผาตั้ง ได้แก่ ฝรั่งคั้นน้ำ และมะเดื่อฝรั่ง
1.4 งานวิจัยหน่วยแม่ยะน้อย ได้แก่ ลินิน
2. งานขยายพันธุ์พืช มีการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์พืช และการปรับปรุงพันธุ์
3. งานด้านการผลิต
3.1 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์) ได้แก่ งานผลิตไม้ดอกไม้กระถาง เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และจำหน่วยผ่านฝ่ายตลาดของโครงการหลวง , งานผลิตไม้ผล , งานขยายพันธุ์และผลิตสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 70 , งานผลิตปุ๋ยหมัก , งานผลิตเฟินกระถางและเฟินใบ งานผลิตพืชผัก เช่น พริกหวาน , มะเขือเทศเชอรี่ , มิกซ์สลัด และงานผลิตปลาเรนโบว์เทราท์ โดยงานวิจัยประมงบนที่สูง
3.2 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ได้แก่ งานผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , บ๊วย และสาลี่ งานผลิตพืชไร่ เช่น ลินิน กาแฟอราบิก้า
3.3 หน่วยดอยผาตั้ง มีกิจกรรมการผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , หยางเหมย งานดอกไม้แห้งและดอกไม้ทับ
3.4 หน่วยแม่ยะน้อย มีกิจกรรมการผลิต ลินิน , ไม้ผล ได้แก่ พีช และกาแฟอราบิก้า
กิจกรรมต่าง ๆ
ภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้
1. การท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ นอกเหนือไปจากงานด้านการวิจัยและการพัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์แล้ว สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็น พืชผัก ไม้ผลและไม้ดอกเมืองหนาว เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในระดับความสูง 1,380 เมตร จากระดับน้ำทะล ทำให้มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชในเขตหนาว
ซึ่งทางสถานีวิจัยดครงการหลวงอินทนนท์ได้นำเข้าพันธุ์พืชจากต่างประเทศมาเพื่อทำการวิจัย และทดลองปลูกเพื่อหาสายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย จากนั้นยังทำการปรับปรุงและพัฒนาหาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อลดการนำเข้าพันธุ์ไม้จากต่างประเทศที่มีราคาแพง ทำให้ลดการขาดดุลการค้าไปได้มาก นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์อยู่เสมอ ๆ
ภายในพื้นที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังได้มีการจัดสวนหย่อมและสร้างศาลาพักผ่อน และตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิดไว้อย่างสวยงาม ผู้มาเยี่ยมชมนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงแล้ว ยังสามารถเลือกซื้อพืชผัก ไม้ดอก ผลไม้เมืองหนาวและไม้กระถางเป็นของฝากได้อีกด้วย
2. เส้นทางเดินเท้า น้ำตกสิริภูมิ จากสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ สามารถใช้เส้นทางเดินเท้าระยะทาง 680 เมตร สู่ตัวน้ำตกสิริภูมิ ซึ่งตามประวัติเดิมน้ำตกสิริภูมิมีชื่อว่า "น้ำตกเลาลี" ตามชื่อของชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกนี้ ต่อมา ร.ม.ว.จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทางนามว่า "สิริภูมิ" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณรอบ ๆ น้ำตกมีการจัดสวนหย่อมและตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และจัดสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมไว้อย่างสวยงาม เรียกว่า "สวนหลวงสิริภูมิ" ก่อนเดินทางกลับเข้าสู่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ บริเวณสองข้างทางยังสามารถชมแปลงไม้ดอกและผลไม้เมืองหนาวได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและของที่ระลึก สามารถเลือกซื้อได้จากภายในโครงการหลวง และตลาดบ้านม้ง ของราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านขุนกลางได้อีกด้วย
3. การดูนก เนื่องจากพื้นที่บริเวณสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนลดหลั่นกันตามลำดับขั้น จึงก่อให้เกิดสภาพป่าที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านพันธุ์พืช และสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกนานาชนิด ซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้สถานที่ภายในบริเวณศูนย์พัฒนาฯ เหมาะสำหรับเป็นแหล่งดูและศึกษานกที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง "สหกรณ์บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านแม่กลางหลวง" ของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง โดยมีการจัดกิจกรรม การศึกษาวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต ตลอดจนภูมิปัญญาของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อาทิ ยาสมุนไพรพื้นบ้าน กิจกรรมการดูนก ดูดาว การศึกษาระบบนิเวศวิทยา และการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมของนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
4. ร้านอาหารสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีอาหารอร่อย ๆ หลายรายการ อาทิ ปลาเรนโบว์เทร้าท์รมควัน ปลาเรนโบว์เทร้าท์แดดเดียว ปลาเรนโบว์เทร้าท์ 3 รส ปลาเรนโบว์เทร้าท์นึ่งมะนาว ผัดผักรวมอินทนนท์ (ตามฤดูกาล) ข้าวผัดดอยคำ สลัดผักอินทนนท์ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.30 - 18.30 น.
ผลิตผลของเกษตรหลวง
ผักกาดหวาน (Cos lettuce / Romaine lettuce)
มีใบยาว เข้าปลีหลวม มีรสชาติหวานกรอบ จึงได้ชื่อว่าผักกาดหวาน นิยมรับประทานสดในรูปของสลัด หรือเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริก ลาบ เนื้อย่างชนิดต่าง ๆ ให้ห่อเมี้ยงคำ หรือจะรับประทานสุกโดยผัดไฟแรงอย่างรวดเร็ว
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี และฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
กะหล่ำปลีรูปหัวใจ / กะหล่ำปลียอดดอย (Pointed cabbage)
ผลของกะหล่ำปลีรูปหัวใจ มีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ ในหนาหวานกรอบ สามารถรับประทานสด หรือนำมาปรุงอาหารเช่นเดียวกับกะหล่ำปลี
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
คะน้ายอดดอยคำ (Doi Kham Chiness kale)
คะน้ายอดดอยคำเป็นพันธุ์พิเศษ ลำต้นมีลักษณะอวบ รสชาติหวานกรอบ นิยมรับประทานเฉพาะส่วนยอด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด หรือรับประทานสดก็ดี ผักคะน้าโดยทั่วไปมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีนสูง และวิตามินซีสูงกว่าผักใบที่มีอยู่ทั้งหมด นับเป็นผักที่มีคุณค่ายิ่ง ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ลดปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนให้ผลผลิตเกรดรอง ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนให้ผลผลิตเกรดดี
ถั่วแขก (Snap bean)
ลักษณะเหมือนถั่วฝักยาว แต่ขนาดของฝักจะสั้นกว่า ให้รสชาติหวาน และกรอบ มีโปรตีนสูง อุดมด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินซี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด อีกทั้งวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น นิยมนำมาลวกเป็นเครื่องเคียงในสเต็ก ผัดน้ำมันหอย หรือลวกจิ้มน้ำพริก ผสมในไข่ยัดไส้
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
ถั่วหวาน (Sugar snap pea)
เป็นถั่วลันเตาทานเมล็ดที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ สำหรับรับประทานฝักได้ มีเนื้อหนา รสหวานกรอบ มีคุณค่าเหมือนถั่วลันเตาทั่วไป หากฝักแก่สามารถนำเมล็ดมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ลวก และโรยบนสลัด ผัดผักรวม ใส่ไข่ยัดไส้ ข้าวผัด เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี แต่ชาวงเดือนตุลาคม - เดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตดีที่สุด
พริกหวาน (Sweet pepper / Bell pepper)
พริกหวานมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา มีหลายสีทั้งเขียว แดง เหลือง ส้ม และสีช็อคโกแล็ต มีรสชาติหวาน ไม่เผ็ด สามารถรับประทานสดในสลัด หรือนำมาผัดกับผักชนิดต่าง ๆ ให้สีสันน่ารับประทาน มีคุณค่าทางวิตามิน A , B1 , B2 และ C มีสารแคบไซซิน ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โรคต้อกระจก และโรคมะเร็ง
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ และเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศเชอรี่ (Cherry tomato)
มะเขือเทศทานสด ผลมีขนาดเล็กพอดีคำ มีรสชาติออกเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อแน่น น้ำน้อย มีกลิ่นหอมต่างจากมะเขือเทศทั่วไป อุดมด้วยคุณค่าวิตามิน A , B3 , B6 , Folic Acid , Inositol และ Sodium ช่วยบำรุงผิวพรรณ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศดอยคำ / มะเขือเทศผลโต (Table tomato)
เป็นมะเขือเทศรับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อเนียนฉ่ำ รสชาติกลมกล่อม เป็นแหล่งของคาโรทีนอยด์ และโพแทสเซียม อุดมด้วยวิตามิน C และ E
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เซเลอรี่ / เซเลอรี่ขาว (Celery)
เซเลอรี่มีลักษณะคล้ายกับต้นคื่นช่ายจีน มีกลิ่นหอมเหมือนกัน แต่ลำต้นใหญ่กว่า สามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ทำซุป ผัดกับปลาคล้ายต้นคื่นช่าย หรือรับประทานสดในสลัด มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต คนเป็นโรคไตทานได้เพราะมีโซเดียมต่ำ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
พาร์สเลย์ (Parsley)
พาร์สเลย์เป็นพืชสมุนไพรพื้นเมืองแถบเมดิเตอร์เรเนียน ใช้ส่วนใบมาเป็นอาหาร ทยอยเก็บใบมาใช้ ลักษณะใบหยิกเป็นฝอย มีกลิ่นหอม นิยมนำมาตกแต่งในจานอาหาร หรือชุบแป้งทอด นอกจากนี้พาร์สเลย์สดใช้เคี้ยวทำให้ลมหายใจสดชื่น และช่วยดับกลิ่นอาหารตกค้าง เช่นกระเที่ยใ นอกจากนี้ใบพาร์สเลย์ยังมีวิตามินซี และธาตุเหล็กในปริมาณพอสมควร
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เฟนเนล (Fennel)
เฟนเนลเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใบคล้ายขนนก มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานสด นำไปแช่ตู้เย็นช่องเย็นจัด แล้วรับประทานแกล้มสเต็ก หรือเนื้อย่างต่าง ๆ เพื่อดับกลิ่นคาว นอกจากนี้สามารถนำไปต้ม ตุ๋น หรือลวกเป็นเครื่องเคียง มีรสชาติหวาน นิยมนำมาตกแต่งโรยในอาหารเช่นเดียวกับผักชี เป็นผักที่ให้แคลเซียมสูง มีประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และฟัน นอกจากนี้เมล็ดและใบยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ข้อมูลทั่วไป...
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์
ไปทางขุนวางบริเวณกิโลเมตรที่ 8 มีลักษณะเป็นสวนหิน ตบแต่งด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากมาย
ทางโครงการฯ ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีจากทั่วประเทศมาทำการเพาะเลี้ยงและจักตกแต่งสวนไว้อย่างสวยงาม
ยอดดอยอินทนนท์ข้อมูลทั่วไป...
ลักษณะทั่วไป
บนยอดดอยอินทนนท์ มีผืนป่าดิบดึกดำบรรพ์อันกว้างใหญ่สมบูรณ์ปกคลุม ซึ่งน้อยคนนักจะได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ในอดีตมีเพียงเส้นทางเล็ก ๆ ตัดขึ้นไปสู่ป่าลึกอันชุ่มชื้นและหนาวเย็น จึงจะได้พบเห็นกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงามและหายากยิ่ง นับแต่รองเท้านารีอินทนนท์ที่ค้นพบเป็นแห่งแรกบนดอยนี้ เอื้องกำเบ้อ ซึ่งเป็นกล้วยไม้จำพวกซิมบิเดียม มีสีเหลืองทอง ยังมีกุหลาบพันปีที่มีลำต้นสูงใหญ่กว่ากุหลาบแดงบนภูหลวงและภูกระดึงมากมายนัก อีกทั้งดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดที่ขึ้นดารดาษทั่วหุบเขา สลับกับพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์น ออสมันดา และอื่น ๆ
เทือกเขาสูงมิได้มีเพียงยอดสูงสุด คือ ดอยอ่างกาหลวงเท่านั้น ทว่าเทือกเขาดอยอินทนนท์นั้นคือแนวทิวเขาสลับซับซ้อนตอนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยอันพาดผ่านชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือลงไป มียอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดสูงสุด สูงถึง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ประดิษฐานกู่พระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย ไม่ว่าฤดูกาลใด อากาศเย็นตลอดปี ราว 5-18 องศาเซลเซียส
การเดินทาง
การเดินทางสู่ยอดดอยอินทนนท์ มีระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร โดยเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่ ? ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดจอมทอง เลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนจอมทอง - อินทนนท์ ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร
ที่ตั้งและแผนที่ที่อยู่ : 119 หมู่7 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เชียงใหม่ 50160
โทรศัพท์ : 053-286729 (บริการข้อมูลท่องเที่ยว,จองที่พัก), 053-286728 (ศูนย์กู้ภัย)
โทรสาร : 053-286727
อีเมล :
inthanon98กnp@hotmail.com หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์ร้านอาหาร - ร้านสวัสดิการอุทยานฯ
ร้านอาหาร - ร้านอาหารน้ำตกแม่ยะ
ร้านอาหาร - ร้านอาหารน้ำตกแม่กลาง
ร้านอาหาร - ร้านอาหารน้ำตกแม่วชิรธาร
ร้านอาหาร - ร้านอาหารกิ่วแม่ปาน
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 107(ดาวเรือง)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 101(ข้าวตอกฤาษี)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 102 (กุหลาบแดง)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 104 (อินทนิล)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 105(ราชพฤกษ์)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 106(กุหลาบขาว)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 108(บุษบง)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 109(นนทรี)
ที่พัก - บ้านอินทนนท์ 110(ไผ่ไพรวัลย์)
ที่พัก - ค่ายเยาวชน 931
ที่พัก - ค่ายเยาวชน 932
ที่พัก - ค่ายเยาวชน 933
ที่พัก - ค่ายเยาวชน 934
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 101
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 108
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 110
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 107
ที่พัก - อินทนนท์ 934
ที่พัก - อินทนนท์ 931
ที่พัก - อินทนนท์ 932
ที่พัก - อินทนนท์ 933
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 106
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 105
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 104
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 103
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 102
ที่พัก - บ้านพักอินทนนท์ 109
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (31 กม.)
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (ยอดดอย)
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (9 กม.)
ร้านค้า - ร้านสวัสดิการอุทยานฯ
ห้องประชุมสัมมนา - ห้องประชุมกาญจนาภิเษก (เล็ก)
ห้องประชุมสัมมนา - อาคารห้องประชุม (ใหญ่)
ห้องน้ำ - ห้องน้ำที่ทำการอุทยานฯ
ห้องน้ำ - ห้องน้ำด่านตรวจจุดที่ 2
ห้องน้ำ - ห้องน้ำด่านตรวจจุดที่ 1
ห้องน้ำ - ห้องน้ำศูนย์บริการฯ (กม. 9)
ห้องน้ำ - ห้องน้ำน้ำตกสิริภูมิ
ห้องน้ำ - ห้องน้ำน้ำตกวชิรธาร
ห้องน้ำ - ห้องน้ำน้ำตกแม่ปาน
ห้องน้ำ - ห้องน้ำกิ่วแม่ปาน
ห้องน้ำ - ห้องน้ำยอดดอย
ถังขยะ - บริเวณที่ทำการอุทยานฯ
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ที่ทำการฯ
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ยอดดอย
สวนหย่อม - สวนสิริภูมิ
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถน้ำตกวชิรธาร
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถน้ำตกวังม่วง
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถศูนย์บริการฯ กม.9
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถน้ำตกแม่กลาง
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถน้ำตกแม่ปาน
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถน้ำตกสิริธาร
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถยอดดอย
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถกิ่วแม่ปาน
ถนน / ทางเดิน - ลานจอดรถที่ทำการฯ
การเดินทางรถยนต์ จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ประมาณ 56 กม.ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 48 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31
พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติดอยอนทนนท์ N18.53642 E98.52135ที่มาข้อมูล...ขอบคุณwww.park.dnp.go.th/1006-อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์