ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม
(38 เส้นทางความสุข ,38 โครงการหลวง)
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มเป็นโครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ซึ่งสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯแล้ว ยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
ประวัติความเป็นมาปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขา ทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ขาดแคลนที่ทำกิน ชาวบ้านเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็กๆและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อพยพมารวมกันอยู่เช่นนี้เป็นผลดีในการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม จะได้ไม่ไปรับจ้างชาวเขาเผ่าอื่นอีกด้วย” จากนั้นทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้ารับหมู่บานพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มตั้งอยู่ใน เขตตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่รับผิดชอบ 24,631ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 480-500 เมตร มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน โดย 8 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บริโภคอาหารมังสาวิรัติ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสะกอ
กิจกรรมการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ชมแปลงสาธิตพันธุ์พืช เช่น มะม่วงพันธุ์นวลคำ เกรฟฟรุทเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ คะน้าดอยคำ มะเฟืองสายพันธุ์ไต้หวัน ฯลฯ

ชมการเลี้ยงหมูหลุมและกระต่ายที่บ้านแม่หละ หมู่ที่ 17
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งในบริเวณวัดมีรอยพระพุทธบาท พิพิธภัณฑ์วัดพระบาทห้วยต้ม รวมถึงสรีระของท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาให้เข้าชมและสักการะ โดยการเข้าเที่ยวชมวัดให้งดเส้นการน้ำเนื้อสัตว์เข้าสู่ภายในบริเวณวัด นอกจากนี้ยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อันเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมียให้แวะมาสักการะ

ประเพณีเปลี่ยนผ้าครูบา จัดขึ้นช่วงวันที่ 15-17 พฤษภาคมของทุกปี จะมีการเชิญพระสรีระหลวงปู่ครูบาวงศ์ ซึ่งไม่เน่าไม่เปื่อยลงในศาสนพิธี เพื่อทำการเปลี่ยนผ้าพระศพ

ประเพณีทำบุญทอดกฐิน จัดขึ้นทุกปีหลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลเข้าพรรษา มีขบวนแห่ครัวทานที่ยิ่งใหญ่เป็นการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในหมู่บ้าน โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทุกปี

ชมวิถีชีวิตกะเหรี่ยงโบราณบ้านน้ำบ่อน้อย ชุมชนดั้งเดิมมีการสร้างบ้านแบบโบราณไม่ใช้ตะปู มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บริเวณพื้นที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเมืองใต้ดิน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และรอยพระบาท

ชมงานหัตถกรรมเครื่องเงิน ที่มีเอกลักษณ์ลวดลายที่สะท้อนวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยง และการออกแบบลวดลายต่างๆ ซึ่งดัดแปลงจากธรรมชาติ เช่น ปลา ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ดข้าว ตามวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งที่นี่นับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

ชมการทอผ้าลายโบราณของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ใช้กี่ทอผ้ามัดเอว ย้อมสีด้วยธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ คราม มีรูปแบบผ้ายกดอกเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับภาค 5 ดาว

ชมการทำสร้อยจากกะลามะพร้าว มีรูปแบบการผลิตที่หลากหลาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ โคมไฟ ตะกร้าใส่ภาชนะ ฯลฯ

ชมงานหัตถกรรมการสานไผ่ด้วยมือ เช่น ตะกร้าใส่เสื้อผ้า ตะกร้าใส่ผัก ตะกร้าใส่ขวดไวน์ กรอบรูป ฯลฯ
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติแม่ปิง นักท่องเที่ยวนิยมมาค้างอ้างแรม ดูนก และเดินป่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดอกกล้วยไม้เหลืองแม่ปิงจะบานสะพรั่ง ซึ่งในอุทยานก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น แก่งก้อ น้ำตกก้อหลวง ถ้ำยางวี ทุ่งกิ๊ก-ทุ่งยางู ผาดำผาแดง
ของฝากของที่ระลึก
ผลไม้ตามฤดูกาล

ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชาวเขา เช่น เครื่องเงิน ผ้าทอกะเหรี่ยง สิ่งประดิษฐ์จากกะลามะพร้าว เครื่องจักรสาน ฯลฯ
ที่พัก-ร้านอาหารบ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 4 ห้อง รองรับได้ห้องละ 4 คน ภายในศูนย์ฯ ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่ภายในหมู่บ้านจะมีร้านอาหารไว้คอยให้บริการอย่างหลากหลาย
การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 (สายเชียงใหม่-ลำพูน) เมื่อถึงอำเภอลี้ให้เลี้ยงขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1087 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ศูนย์ อีก 1 กิโลเมตร หรือจากเมืองเชียงใหม่สามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ผ่านดอยเต่าแล้วเข้ามาที่อำเภอลี้ก็ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม บ้านผาลาด ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110
โทร 053-518-059 หรือ 083-324-3063
GPS ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม N17.729189 E98.942571แผนที่
หน้าที่หลักของแต่ละศูนย์
ด้วยความขอบคุณ... เว็บโครงการหลวง http://www.thairoyalprojecttour.com/?p=1048
เป็นที่มาของ... ข้อความทั้งหมด ภาพทั้งหมด เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด