:: GPStt.com ::

หมวด บอร์ดทั่วไป
=> สารพันความรู้ - เทคโนโลยี => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงเปี๊ยก ที-เน็ตเวิร์ค (อ.สากเหล็ก) ที่ 10 พฤษภาคม 2566, เวลา 16:34:15 น.

หัวข้อ: ทะเล่อทะล่า “บินโดรน” ถอดบทเรียน “จับ - ปรับ - ขังคุก”
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงเปี๊ยก ที-เน็ตเวิร์ค (อ.สากเหล็ก) ที่ 10 พฤษภาคม 2566, เวลา 16:34:15 น.
[attach=1]

ทะเล่อทะล่า “บินโดรน” ถอดบทเรียน “จับ - ปรับ - ขังคุก”

เครดิต: www.mgronline.com/daily/ผู้จัดการสุดสัปดาห์ (https://mgronline.com/daily/detail/9660000037055)

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในขณะที่ “โดรน” (Drone) ได้รับความนิยมมาขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพจากมุมสูง เรื่องเล่าอุทาหรณ์ “บินโดรน” เพราะคิดน้อย ละเลยกฎหมาย คิดเพียงว่าบินโดรนเก็บภาพมสูงแค่ “แป๊บเดียว คงไม่เป็นไร” แต่ผลลัพธ์รุนแรง เพราะเมืองไทยมีกฎหมายคุมการบินโดรนบังคับใช้อย่างเข้มข้น

เรื่องราวของช่างภาพรายหนึ่ง โพสต์เรื่องราวของผ่านเฟซบุ๊ก  “อำพล ทองเมืองหลวง” หลังโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเนื่องจากการขึ้นบินโดรนไม่ขออนุญาต เพราะเจ้าตัวคิดว่า  “แป๊บเดียว ไม่เป็นไร”  โดยเจตนาของช่างภาพหนุ่มเพียงต้องการเก็บภาพภาพมุมสูง โดยขึ้นบินโดรนไม่ถึง 5 นาที ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า  “คิดน้อย”

กล่าวคือเจ้าตัวทราบถึงกฎหมายการบินโดรน ต้องมีใบอนุญาต ทั้งพื้นที่ห้ามบินโดรน ฯลฯ แต่ละเลยคิดว่าไม่เป็นไร งานนี้จึงเป็นเรื่องราวใหญ่โต จึงนำเรื่องราวของตัวเองแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์

หลังจากนั้น โดนเรียกตัวเข้าพบเจ้าหน้าตรวจเช็กใบอนุญาต เช็กใบลงทะเบียนโดรน ตรวจเส้นทางการบิน ความสูง แบบละเอียด และสอบเจตนา ถูกดำเนินคดี กระทำผิด พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 24 โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และงานนี้เกือบนอนห้องขัง หากไม่มีเงินประกันตัว ต่อมาถูกส่งฟ้องศาล สั่งปรับ 3,000 บาท

สำหรับเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicl e: UAV) หรือ โดรน (Drone) ถูกนำมาใช้กิจการด้านต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่นำมาใช้อย่างกว้างขวาง ย่อมเกิดข้อกังวลต่อความเสี่ยงด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งด้านความมั่นคงต่อพื้นที่ และความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ย้อนความเป็นมาของ “โดรน” แต่เดิมเป็นอุปกรณ์ทางการทหารที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับสอดแนมพื้นที่แนวรบ มีการติดตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพจากมุมสูง เก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ก่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในการถ่ายภาพมุมสูง

นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง  “การกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ” โดย  อังค์วรา วัฒนรุ่ง เกี่ยวกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไทยกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว ยังสะท้อนถึงความช่องว่างที่อาจทำให้โดรนถูกนำมาใช้ในทางไม่เหมาะสม

ระบุว่าโดรนเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในงานกิจการด้านต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในเรื่องที่เป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิงส่วนตัว และถูกนำไปใช้ในทางธุรกิจการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และในงานราชการ รวมทั้งในกิจการทางทหาร ซึ่งเทคโนโลยีของโดรนได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถทำได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่จะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น กล้องถ่ายรูป หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก กะทัดรัด และราคาถูก หาซื้อได้ง่ายและใช้งานง่าย จึงมีการนำโดรนมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โดรนอาจถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิด เช่น การใช้ในการถ้ำมอง (Voyeurism), การใช้ในการสอดแนม (Spying), ติดตามบุคคลอื่น (Stalking), การใช้ในการสำรวจรอบบ้านเพื่อทำการบุกรุกเข้าไปขโมยทรัพย์สินในบ้าน (Burglary), การใช้ลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด หรืออาวุธร้ายแรง หรือแม้กระทั่งการใช้เป็นอาวุธในการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Hacking) ตลอดจนการก่อการร้าย และการใช้บินเข้าไปในพื้นที่ต้องห้าม เป็นต้น

ดังนั้น ควรมีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะสำหรับโดรน เพื่อกำหนดขอบเขตว่ารูปแบบของการกระทำความผิดแบบใดบ้างที่จะต้องมีความรับผิดชอบเกิดขึ้น

ในส่วนของภาครัฐจึงมีการออกกฎหมายกำกับเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อความเป็นระบบระเบียบ รวมถึงพัฒนาเงื่อนไขต่างๆ ให้เท่าทันยุคสมัยมากขึ้น

 สำหรับผู้ใช้โดรน ต้องขึ้นทะเบียนโดรนกับ 2 หน่วยงาน คือ 1. ขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองโดรนที่ สำนักงาน กสทช. เสมือนการทำทะเบียนรถยนต์ และ 2. ขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เสมือนการทำใบขับขี่รถยนต์

โดยโดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ 2 หน่วยงาน คือ 1. โดรนทุกประเภท ต้องขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองโดรนที่ สำนักงาน กสทช. (NBTC) และ 2. โดรนที่มีคุณสมบัติดังนี้ 2.1 ติดตั้งกล้องบันทึกภาพ ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี .2 โดรนที่น้ำหนักเกิน 2 กก. แต่ไม่เกิน 25 กก. ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี (โดรนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ไม่ต้องขึ้นทะเบียน) 2.3 โดรนที่น้ำหนักเกิน 25 กก. ขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังลือจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด กสทช. ออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ระบุว่า ผู้ที่ครอบครองโดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 250 กรัม ต้องมาขึ้นทะเบียนเหมือนกับโดรนทั่วไป เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง

โดยกำหนดบทลงโทษ ตาม พ.ร.บ การเดินอากาศ และข้อบังคับการทำการบินอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน หากใครกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ดังกล่าว เบื้องต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 สาระสำคัญของการบินอากาศยานไร้คนขับในระหว่างทำการบินนั้นก็มีหลายข้อห้ามด้วยกัน

1. ห้ามมิให้ทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น อีกทั้งยังห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจำกัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

2. กำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบิน และห้ามทำการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง โดยจะต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน ห้ามทำการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ และห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต

3. ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตรเหนือพื้นดิน ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน ห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร

 มีการกำหนดสถานที่ห้ามบินโดยเด็ดขาด มีโทษปรับและจำคุก อาทิ เขตพระราชฐาน, สถานที่ราชการ ค่ายทหาร โรงพยาบาล อุทยานแห่งชาติ, ย่านชุมชน และสนามบินในะระยะ 9 กม. นอกจากนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ห้ามบินในพิกัด 19 กม. จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบพื้นบินโดรน ได้ผ่านแอปพลิเคชั่น OpenSky

และอย่าคิดว่าแอบบินโดรนแป๊บเดียวไม่เป็นไร เพราะมีหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบการขึ้นบินโดรนอย่างใกล้ชิด หากพบกระทำการละเมิดกฎหมายจะมีการดำเนินคดีอย่างแน่นอน

ดังนั้น จะเห็นว่าการควบคุมการบินโดรนมีรายละเอียบยิบย่อย ผู้ใช้โดรนต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจอย่างรอบคอบ กล่าวโดยสรุปคือการครอบครองและการบินโดรน ต้องมีใบอนุญาต ต้องขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองโดรน กับ กสทช. เสมือนการทำทะเบียนรถยนต์ และขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนกับ กพท. เสมือนการทำใบขับขี่รถยนต์ รวมทั้ง ศึกษาเงื่อนไขการขึ้นบินโดรน อาทิ สถานที่ห้ามบิน ระดับความสูง ฯลฯ

 สุดท้ายการบินโดรนในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องต้องห้าม เพียงแต่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามกติกา.