:: GPStt.com ::

หมวด ข่าวสาร อุปกรณ์ท่องเที่ยว
=> แหล่งท่องเที่ยวใน โครงการหลวงฯ, อุทยานแห่งชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: pim ที่ 09 พฤษภาคม 2557, เวลา 17:15:45 น.

หัวข้อ: อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai)
เริ่มหัวข้อโดย: pim ที่ 09 พฤษภาคม 2557, เวลา 17:15:45 น.
[attach=1]

อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai)
พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย  N17.55371 E99.48468
www.park.dnp.go.th/1026-อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1026)

ความเป็นมา : ในปี 2519 สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ ความว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชประสงค์สงวนป่าบริเวณตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในบริเวณนี้ประกอบด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาชนิด ราษฎรในแถบนี้และใกล้เคียงได้รับความสมบูรณ์จากน้ำที่เกิดจากพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าแห่งนี้ กรมป่าไม้ควรสงวนไว้เป็นวนอุทยานซึ่ง ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้ว มีบัญชาให้ดำเนินการตามพระราชประสงค์"

กรมป่าไม้จึงได้ประชุมผู้แทนกองต่างๆ พิจารณาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2519 และมีหนังสือให้กองจัดการป่าไม้ กองอุทยานแห่งชาติ และกองอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่งตั้งผู้แทนของกองออกไปร่วมกับป่าไม้เขตตาก และจังหวัดสุโขทัย ดำเนินการตรวจสอบป่าโครงการแม่สิน-แม่สาน (สท.1) ซึ่งเป็นพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันตรวจสอบ และเห็นสมควรให้จัดป่าแห่งนี้บางส่วนเป็นอุทยานแห่งชาติ เฉพาะในพื้นที่ป่าส่วนที่เป็นต้นน้ำลำธาร กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นสภาพโครงการป่าโครงการแม่สิน-แม่สาน ซึ่งได้รับรายงานว่า พื้นที่ ดังกล่าวมีสภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธาร พันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่านานาชนิดน้ำตกหลายแห่ง ตลอดจนทัศนียภาพที่สวยงามมากมาย มีสภาพเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย” โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สินป่าแม่สาน ป่าแม่สูงฝั่งซ้าย และ ป่าแม่ท่าแพ ในท้องที่ตำบลแม่ล้น ตำบลแม่สำ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย และตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 70 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 26 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 213

ขนาดพื้นที่
133250.00 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพป่าโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน บางตอนเป็นภูเขาหินที่มีหน้าผาสูงทางทิศตะวันตกของพื้นที่ ซึ้งเป็นภูเขาสูง เช่น ดอยแม่วังช้าง ดอยแม่มอก มีแนวติดต่อกันจากเหนือจรดใต้ ลักษณะเป็นรูปปีกกา ล้อมรอบพื้นที่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณที่พื้นที่ประมาณ 93.40 ของพื้นที่อุทยานฯ

ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของจังหวัดสุโขทัย จัดอยู่ในประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู (Tropical savannah climate) ซึ่งแสดงว่าเป็นบริเวณที่มีช่วงฝนสลับกับช่วงที่แห้งแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจนในรอบปี ซึ่งสามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ในเดือนกุมภาพันธ์จะมีลมสองกระแสพัดมาปะทะกัน คือ ลมเหนือซึ่งพัดมาจากประเทศจีน และลมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งพัดมาจากทะเลจีนใต้เป็นผลให้เกิดพายุโซนร้อนเป็นครั้งคราว ในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนอุณหภูมิจะสูง อากาศร้อน อบอ้าว ระยะตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเริ่มฝนตกประปราย และอุณหภูมิจะเริ่มต่ำลง
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในบางปีจะเริ่มตกตั้งแต่เดือนเมษายนและฝนจะแล้งตั้งแต่ราวกลางฤดูฝน แต่โดยปกติแล้วจะเกิดพายุโซนร้อนพัดผ่านทำให้ฝนตกชุกในเดือนสิงหาคมและกันยายน
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ในฤดูหนาวบางปีอากาศหนาวจัดเนื่องจากได้รับลมหนาวไซบีเรียและจากตอนเหนือของประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมากระหว่างปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มฤดูร้อน



พืชพันธุ์และสัตว์ป่า

พืชพันธุ์
สามารถจำแนกสังคมพืชในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้ :-

(1) ป่าดิบเมืองร้อน (Tropical Evergreen Forest) เป็นป่าที่อยู่ในเขตที่มีลมมรสุมพัดผ่านเกือบตลอดปี มีปริมาณน้ำฝนมาก ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ทั้งในที่ราบและที่เป็นภูเขาสูง พบกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม่ที่สำคัญ ได้แก่ ยาง (Dipterocarpus spp.) ตะแบก (Lagerstroemia spp.) มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) กระเบาลิงหรือกระเบากลัก (Hydnocarpus ilicifolius) สมพง (Tetrameles nudiflora) ดำดง (Dyospyros) ตาเสือ (Aphanamixis polystachya) ตะคร้ำ (Garuga pinnata) สีเสียด (Acacia catechu) ตะเคียนทอง (Hopea odorata) ยมหิน ( Chukrasia velutina) และมะกอก (Spondias pinnata) เป็นต้น

(2) ป่าเบญจพรรณที่ไม่มีไม้สัก (Mixed Deciduous Forest without Teak) มีลักษณะเป็นป่าโปร่งประกอบด้วยต้นไม้ขนาดกลางเป็นส่วนมาก พื้นป่าไม้รกทึบ มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่มาก ในฤดูแล้งต้นไม้ส่วนมากจะผลัดใบและมักจะเกิดไฟป่าไหม้ลุกลามแทบทุกปี เป็นชนิดป่าที่มีเนื้อที่รองลงมาจากป่าดงดิบ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก (Lagerstroemia spp.) เสลา (L.tomemtosa) อินทนิลน้ำ (L. speciosa) แดง (Xylia zylocarpa) ประดู่ ( Pterocarpus macrocarpus) มะค่าโมง (Afzelia zylocarpa) แสมสาร (Cassia garrettiana) ชัยพฤกษ์ (C. fistula) เก็ดดำ (Dalbergia assamica) กระบก (Irvingia malayana) มะม่วงป่า (Mangifera caloneura) ส้าน (Dillenia sp.) จันเขาหรือจันดง (Diospyros dasyphylla) อ้อยช้างหรือกุ๊ก (Lannea coromandelica) และมะกล่ำต้น (Adenanthera pavonina) เป็นต้น

(3) ป่าเบญจพรรณที่มีไม้สัก (Mixed Deciduous Forest with Teak) มีลักษณะคล้ายกับป่าเบญจพรรณที่ไม่มีสัก พบอยู่น้อยในเขตอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก (Tectona grandis) ตะคร้อ (Schleichera oleosa) แดง (Xylia xylocarpa) ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) มะเกิ้ม (Canarium subulatum) งิ้วป่า (Bombox anceps) เก็ดแดง (Dalbergia dongnaiensis) เก็ดดำ (D. assamica) ตะคร้ำ (Garuga pinnata) มะกอก (Spondias pinnata) และมะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) เป็นต้น

(4) ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) พบได้ทั้งที่ราบและที่เขาสูง ดินเป็นทราบและลูกรัง (lateritic soil) ซึ่งจะมีสีค่อนข้างแดง ในที่บางแห่งจึงเรียกว่า ป่าแดง มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พื้นป่าไม้รกทึบมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะหญ้าเพ็ก (Arundinaria pusilla) และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง (Shorea obtuse) รัง (S. siamensis) รกฟ้า (Terminalia alata) ตะแบก (Lagerstroemia spp.) ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) แดง (Xylia xylocarpa) แสลงใจ (Strychnos nux-vomica) ยอป่า ( Morinda coreia) รัก (Melanorrhoea glabra) ตีนนก (Vitex pinnata) และส้าน (Dillenia sp.) เป็นต้น



สัตว์ป่า
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเป็นเทือกเขาสูง มียอดเขาสลับซับซ้อนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมแก่สัตว์หลายชนิด และพื้นที่ลุ่มน้ำริมลำธารสายต่างๆ เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายชนิด

(1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammals) ประกอบด้วย เก้ง (Muntiacus muntjak) กระจงเล็ก (Tragulus javanicus) กระทิง (Bos gaurus) เลียงผา (Capricornis sumatraensis) หมูป่า (Sus scrofa) เสือปลา (Felis viverrina) แมวดาว (F. bengalensis) ลิงลม ( Nycticebus coucang) ลิงเสน (Macaca arctoides) ค่างแว่นถิ่นเหนือ(Presbytis phayrei) ชะนีมือขาว(Hylobates lar ) หมาจิ้งจอก (Canis aureus) หมีควาย (Ursus thibetanus) หมีหมาหรือหมีคน (Helarctos malayanus) หมาหริ่ง (Arctonyx collaris) ชะมดเช็ด (Viverricula indica) อีเห็นเครือ ( Paguma larvata) พังพอน (Herpestes javanicus) ลิ่มพันธุ์ชะวา (Manis javanica) เม่นใหญ่แผงคอขาว (Hystrix brachyuran) กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni) กระจ้อนหรือกระแต (Menetes berdmorei) กระรอกดินแก้มแดง (Dremomys rufigenis) กระแตธรรมดา (Tupaia glis) กระต่ายป่า (Lepus peguensis) หนูนาเล็ก (Rattus losea) ค้างคาวบัวฟันกลม (Rousettus amplexicaudatus) ค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสองสี (Hipposideros bicolar) และค้างคาวไผ่หัวแบนใหญ่ (Tylonycteri robustula) เป็นต้น

(2) สัตว์ปีก (Avifauna) ประกอบด้วย นกยางเขียว (Butorides striatus) เหยี่ยวรุ้ง (Spilornis cheela) นกกระทาดงแข้งเขียว (Arborophila brunneopectus) ไก่ฟ้าหลังขาว (Lophura nycthemera) ไก่ฟ้าพญาลอ (L.diardi) ไก่ป่า (Gallus gallus) นกกวัก (Amaurornis phoenicurus) นกเขาเปล้า(Treron curvirostra) นกลุมพู (Ducula badia) นกแขกเต้า (Psittacula alexandri) นกคัดคูเหยี่ยวใหญ่ (Cuculus sparverioides) นกอีวาบตั๊กแตน (Cacomantis merulinus) นกบั้งรอกใหญ่ (Phaenicophaeus tristis) นกกระปูดใหญ่ (Centropus sinensis) นกเค้าภูเขา (Outs spilocephalus) นกตบยุงป่าโคก (Caprimugus affinis) นกแอ่นฟ้าหงอน (Hemiprocne coronata) นกกะเต็นลาย (Lacedo pulchella) นกตะขาบดง (Eurystomus orientalis) นกกะรางหัวขวาน (Upupa epops) นกแก๊กหรือนกแกง (Anthracoceros albirostris) นกกกหรือนกกาฮ้ง (Buceros bicornis) นกโพระดก (Megalaima virens) นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง (Picus flavinucha) นกพญาปากกว้างอกสีเงิน (Serilophus lunatus) นกแต้วแล้วสีน้ำเงิน (Pitta cyanea) นกนางแอ่นทรายสร้อยคอดำ (Riparia riparia) นกเขนน้อยปีกแถบขาว (Hemipus picatus) นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล (Tephrodornis virgatus) นกพญาไฟใหญ่ (Pericrocotus flammeus) นกขมิ้นน้อยธรรมดา (Aegithina tiphia) นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (Chloropsis cochinchinensis) นกปรอดทอง (Pycnonotus atriceps) นกแซงแซวสีเทา (Dicrurus leucophaeus) นกเขียวคราม (Irena puella) นกกินแมลงหน้าผากน้ำตาล (Stachyris rufifrons) นกกะรางคอดำหรือนกชอฮู้ (Garrulax chinensis) นกเอี้ยงถ้ำ (Myiophoneus caeruleus) นกจับแมลงคอแดง (Ficedula Parva) นกเด้าดินสวน (Anthus hodgsoni) นกขุนทอง (Gracula religiosa) นก (Aethopyga siparaja) และนกกระติ๊ดขี้หนู (Lonchura punctulata) เป็นต้น

(3) สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ประกอบด้วยเต่าปูลู (Platysternon megacephalum) เต่าห้บหรือเต่างับ (Cuora amboinensis) เต่าหวายหรือเต่าหิน (Heosemys grandis) เต่าเหลืองหรือเต่าเทียน (Indotestudo elongate) ตะพาบน้ำ (Trionyx cartilaginous) จิ้งจกหางเรียบ (Hemidactylus garnotii) จิ้งจกหางแบน (Cosymbotus platyurus) ตุ๊กแกบ้านหรือกับแก้ (Gekko gecko) กิ้งก่าหัวแดง (Calotes versicolor) ตะกวดหรือแลน (Varanus bengalensis) จิ้งเหลนบ้าน (Mabuya multifasciata) จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง (Lygosoma bowringi) จิ้งเหลนลาย (Lipinia vittigera) งูหลาม (Python molurus) งูเหลือม (P.reticulatus) งูสามเหลี่ยม (Bungarus fascutus) งูจงอางหรืองูป้องหลา (Ophiophagus Hannah) งูลายสอธรรมดา (Xenochrophis flavipunctus) งูสิงธรรมดา (Ptyas korros) และงูเขียวหางไหม้ท้องเขียว (Trimeresurus popeorum) เป็นต้น

(4) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) ประกอบด้วย อึ่งกรายลายเลอะ (Leptobrachium hasseltii) คางคกบ้าน (Bufo melanostictus) กบนาหรือกบเนื้อ (Rana rugulosa) กบหนอง (R. limnocharis) กบหงอนหรือกบแรด (R. pileata) กบห้วยขาปุ่ม (R. kuhlii) กบทูด (R. blythii) ปาดบ้านหรือเขียดตะปาด (Rhacophorus leucomystax) อึ่งอ่างบ้าน (Kaloula pulchra) อึ่งแม่หนาว (Microhyla berdmorei) อึ่งน้ำเต้า (M. ornate) และเขียดชะง่อนหินเมืองเหนือ (Hylarana livida)

(5) ปลา (Fishes) เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยมีลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปีอยู่หลายสาย ทำให้มีปลาน้ำจืดอยู่หลายชนิดแต่ยังมิได้ดำเนินการสำรวจจำแนกชนิด



(http://park.dnp.go.th/dnp/ptamap/1026map040209_110931.jpg)

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : ตู้ ปณ.10 ต.บ้านแก่ง อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130
โทรศัพท์ : 0 5591 0002-3 ,08 1887 9897
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายปิยะ หนูนิล

การเดินทาง
รถยนต์
จากอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เข้าถึงอุทยานฯ ได้ 2 เส้นทาง
1. เริ่มจากอำเภอเมือง ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เลี่ยงเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1113 มาถึงสี่แยกสารจิตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1294 เข้าสู่อุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
2. เริ่มจากอำเภเมือง ตามถนนหมายเลข 101 ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตาม ทางหลวงหมายเลข 1035 ผ่านหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย ถึงสี่แยกสารจิตร ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1294 เข้าสู่อุทยานฯ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 122 กิโลเมตร

พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย  N17.55371 E99.48468

http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=N17.55371 E99.48468 (http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=N17.55371 E99.48468)



ที่มาข้อมูล...ขอบคุณ
www.park.dnp.go.th/1026-อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1026)
หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai)
เริ่มหัวข้อโดย: Synyster (ผีพนัน) ที่ 18 มิถุนายน 2558, เวลา 11:48:51 น.
น่าไปมากเลยครับต้องลองไปสักครั้งให้ได้