รัฐบาลพม่าปลดล็อคเมือง'เชียงตุง' เมืองแห่งชาวไทยเขิน
โปรโมทขึ้นแท่นเมืองท่องเที่ยวประวัติศาสตร์www.facebook.com/รักเชียงตุงทันทีที่รัฐบาลพม่าเปิดประเทศได้ส่งสัญญานเชิงบวกให้การท่องเที่ยวตามแนวชายแดนไทย-พม่ามีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะ"จังหวัดเชียงตุง" เมืองหลวงของเขตรัฐฉานตะวันออก ถูกวางบทบาทให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ร่วม700 ปี
ปัจจุบันจะเห็นถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ถือพาสปอร์ตพร้อมวีซ่าเข้าออกผ่านด่านชายแดนท่าขี้เหล็ก-จังหวัดเชียงตุงได้อย่างสะดวก สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองปิดมายาวนาน ก่อนจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558
ด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงตุง อยู่ห่างจากชายแดนพม่าที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพียง 165 กิโลเมตร และถูกโปรโมทให้เป็นถนนสายเศรษฐกิจสำ คัญเชื่อมโยงการค้า และการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว-จีน หรือที่เรียกว่าถนนอาร์ 3 บี จึงทำให้การเปิดประตูเมืองเชียงตุงครั้งนี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใช้จุดขายย้อนรอยถึงอดีตที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทั้งวัดเก่าแก่, โบราณสถาน, วิถีชีวิตชนเผ่าของพม่า และบ้านเรือนสไตล์อังกฤษ จึงกลายเป็นเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวที่น่าจับตามองนับจากนี้
นายอู คิ่น วิน ผู้ว่าราชการเชียงตุง กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงตุงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ปีละ 5,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย รองลงมาคือ ยุโรป และจีนตามลำดับ และคาดว่าในปี 2557 จะมีนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า เนื่องจากรัฐบาลพม่าอนุมัติให้ถือพาสปอร์ตเข้าประเทศตามด่านชายแดนสำคัญได้แล้ว และกำลังร่างกฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะการค้า และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงตุงอยู่ระหว่างการพัฒนารองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้เกิดความสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยเริ่มมีการก่อสร้างโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 14 แห่ง จำนวน 800 ห้อง คาดว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะในปี 2557 ประเทศพม่าเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และในปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงต้องเร่งพัฒนาการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบริการอย่างรอบด้าน และตอนนี้ก็พร้อมจะรองรับการลงทุนทั้งในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และเหมืองแร่ควบคู่กันด้วย
ประการสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 22 ที่ประเทศบูรไน รัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่ามีนโยบายสถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงตุงตามประวัติศาตร์ที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนานจึงเปรียบเป็นการนำร่องเมืองที่มีศักยภาพคู่กัน โดยทางคณะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางไปกระชับสัมพันธ์กับทางจังหวัดเชียงตุงอย่างเป็นทางการแล้ว ทางรัฐฉานจะนำร่างบันทึกข้อตกลงให้กับกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลพม่า ประสานกับทางกระทรวงต่างประเทศของไทย เพื่อลงนามข้อบันทึกสถาปนาบ้านพี่เมืองน้องกันต่อไป
นาย อู เท อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของพม่า กล่าวว่า นับจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าจะแน่นเฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตามหัวเมืองชายแดนสำคัญ ขณะนี้สามารถเดินทางเชื่อมต่อจากจังหวัดเชียงตุงเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเส้นทางรถยนต์แล้ว ต่อไปต้องการให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศร่วมกัน โดยอาจจะมีการผลักดันให้มีสายการบินเปิดบินตรงระหว่างเชียงใหม่-เชียงตุงด้วย เพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองลา ชายแดนจีนได้อย่างสะดวก และเชื่อว่าต่อไปในอนาคตจังหวัดเชียงตุงพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว เพราะมีศักยภาพพร้อมทางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และประวัติศาสตร์
นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดเชียงตุงของพม่าในครั้งนี้ พบว่าการคมนาคมไม่ลำบาก และภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย มีโครงการที่จะเข้าร่วมพัฒนาเส้นทางสายเชียงตุง-ตองยีให้เป็นถนนสายมิตรภาพ เพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ไทย-พม่าอีกครั้งครั้ง โดยทางฝ่ายพม่า เสนอให้ทางฝ่ายไทยเข้ามาร่วมพัฒนาสร้างเส้นทางนี้ร่วมกัน ซึ่งจะถือว่าเป็นถนนเส้นสำคัญ ในการที่จะเชื่อมต่อจากเชียงใหม่-เชียงราย-เชียงตุง-ตองยีของพม่า โดยเฉพาะตองยีถือว่าเป็นเมืองหลวงของพม่าที่เชื่อมต่อไปสู่จีนตอนใต้ และอินเดีย และทางจังหวัดเชียงใหม่จะเร่งประสานสายการบินที่สนใจเปิดเส้นทางบินตรงเชียงใหม่-เชียงตุงตามที่ทางพม่าเสนอมาด้วย
กางแผนที่ท่องเที่ยว"เชียงตุง"รับอาเซียน
ปัจจุบันการเดินทางเข้าสู่จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ด้วยรถทัวร์ปรับอากาศของบริษัททัวร์ไทย และรถแท็กซี่ของพม่า เริ่มต้นเส้นทางจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง อัต ราค่าบริการเดินทางไป-กลับ 62,000 จ๊าด หรือประมาณ 2,000 บาทต่อวัน ขณะที่รถโดยสารประจำทาง คิดค่าบริการ 5,000 จ๊าด หรือประมาณ 160 บาท อีกทั้งมีสายการบินภายในประเทศ จากจังหวัดท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง อัตราค่าบริการ 75,000 จ๊าด หรือประมาณ 2,400 บาท นับว่ามีความหลากหลายในด้านของระบบคมนาคมให้กับนักท่องเที่ยว
เมื่อเดินทางออกจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กมาประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบหมู่บ้านป่าแดงเป็นหมู่บ้านของข้าราชการเมืองท่าขี้เหล็ก บ้านแต่ละหลังจะทันสมัยส่วนใหญ่เป็นบ้านทรงยุโรป ถัดไปจะพบกับสนามบินท่าขี้เหล็กเป็นสนามบินขนาดเล็กใช้เครื่องบินใบพัดทั้งหมดมีสายการบินภายในประเทศ 7 สายการบิน ก่อนจะเข้าสู่เขตชนบทจะพบนาข้าวเขียวขจีอยู่สองข้างทาง ซึ่งชาวพม่าจะนิยมปลูกข้าวเจ้าไว้ขาย และปลูกข้าวเหนียวไว้กินเอง ส่วนข้าวพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ ข้าวพันธุ์เพิร์ล ปอร์ ซาน ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดข้าวระดับโลกมาแล้วในปี 2011
ระหว่างทางจากจังหวัดท่าขี้เหล็กสู่เชียงตุงจะผ่านเมืองสำคัญคือ เมืองท่าเดื่อ และเมืองพยาก เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีแม่น้ำรินไหลคู่กับเส้นทางถนนตลอดสาย จะผ่านผาตะแกงซึ่งเป็นหน้าผาสูงเรียบริมแม่น้ำระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ก่อนจะถึงหมู่บ้านดอยปางควาย เป็นจุดสูงสุดของเมืองเชียงตุงและเป็นจุดพักรถให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อของฝากเมืองเชียงตุง เช่น มะกอกขี้หนู, มันฝรั่งทอด, แอปเปิ้ลป่า และแป้งตะนาคา เป็นต้น ก่อนเข้าสู่จังหวัดเชียงตุงอดีตเมืองหลวงของรัฐฉาน
ตลอดเส้นทางสู่เมืองเชียงตุงส่วนใหญ่จะเป็นหุบเขา มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆตั้งอยู่ริมถนนเป็นระยะ ทั้งหมู่บ้านชาวอาข่า, ชาวไทเขิน, ชาวไทลือ, ชาวปะด่อง, ชาวแอ่น, ชาวว้า, และชาวไทใหญ่ เป็นต้น บางหมู่บ้านจะพบวัดไทยและโบสถ์คริสต์อยู่ในหมู่บ้าน บ้านเรือนริมทางส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยหญ้าคา อาชีพหลักของชาวเมืองจะเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด เก็บของป่า รวมถึงค้าขาย โดยสินค้าส่วนใหญ่รับมาจากไทยและจีน
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ วัดพระเจ้าหลวง และวัดหัวข่วงมหาราชฐาน ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองเชียงตุง, วัดพระธาตุจอมคำที่มีพระเจดีย์เคี้ยวแก้วที่ชาวเมืองเชียงตุงนับถือว่าหากเดินทางมาสักการะขอพรจะสำเร็จทุกประการ, วัดอินทร์วิหารที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้านหลังองค์พระประธาน, พระยืนชี้นิ้วที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงตุง, หนองตุงเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ของเมืองเชียงตุงมีประวัติคู่เมืองเชียงตุงมาช้านาน รวมถึงกาดเชียงตุงเป็นตลาดค้าขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ และยังเป็นแหล่งรวมวิถีชีวิตของชาวเชียงตุงด้วย