การตรวจเช็ครถยนต์ก่อนออกเดินทางไปลาว (จากเว็บลาว)
การตรวจเช็ครถยนต์ก่อนออกเดินทาง
การขับรถส่วนตัวท่องเที่ยวไปในประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน นับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีความสะดวกสบายหลายอย่าง เช่น ต้องการไปเที่ยวยังทีใด อยากแวะตรงไหนก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอรถโดยสาร หรือรถประจำทาง และการขอทำเอกสารประจำรถ (พาสปอร์ตรถ) หรือใบขับขี่ที่สามารถนำไปใช้ใน 10 ประเทศอาเซียน ก็ไม่มีความยุ่งยากมากเหมือนในสมัยก่อน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน
ขับรถส่วนตัวเที่ยวลาว) โดยเฉพาะในปีค.ศ. 2015 ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเข้าสู่การเป็น
“ประชาคมอาเซียน” การเดินทางไป-มาหากันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงในการเดินทางด้วยวิธีนี้คือ เรื่องความพร้อม และความสมบูรณ์ของพาหนะที่ใช้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรับใช้นักเดินทางไปตลอดจนกระทั่งจบทริป บางครั้งระหว่างการเดินทางอาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งรถและคน ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
ทีมข้อมูลของเว็บไซด์ louangprabang.net ได้จัดทำบทความเรื่องนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักเดินทางทุกคนให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศลาวด้วยความปลอดภัย เพราะบางครั้ง
“ความไม่พร้อมอาจเกิดจากความไม่รู้” ก็เป็นได้
ถนนในประเทศลาวมีความแตกต่าง และหลากหลาย ในเส้นทางหลัก (ทางหลวงหมายเลข 13 เหนือ, ใต้) ที่ตัดผ่านเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เป็นถนนแบบราดยางก็จริง แต่ก็มีบางช่วงที่ชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการซ่อมแซม บางครั้งหากเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน ทางบางช่วงอาจเป็นโคลน เนื่องมาจากดินภูเขาสไลด์ (โดยเฉพาะถนนหนทางในแถบภาคเหนือ) ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวมีแผนการเดินทางแบบปกติ (คือเที่ยวเฉพาะเมืองหลักๆ เช่น เวียงจันทน์, วังเวียง, หลวงพระบาง, สะหวันนะเขต, ปากเซ) ไม่ได้มีแผนที่จะไปลุยเมืองเล็ก เมืองน้อยสามารถนำรถยนต์ทุกชนิด ที่สภาพการใช้งานยังดีอยู่เข้ามาในลาวได้ แต่สำหรับเส้นทางรอง หรือเส้นทางท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้าน น้ำตก และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง สภาพเส้นทางร้อยละ 99 เป็นทางดินลูกรังบดแน่น และมีหลายๆ แห่งเป็นทางแบบ OFF ROAD ที่ต้องใช้ทักษะในการควบคุมรถ และประสบการณ์ในการขับขี่บนเส้นทางเหล่านี้มาพอสมควร พาหนะที่ใช้ควรเป็นรถประเภท 4 WD หรือรถที่ยกสูงกว่าปกติ ซึ่งสังเกตได้จากรถยนต์ประเภทเหล่านี้จะขายดีในประเทศลาวมากกว่ารถเก๋ง การเตรียมความพร้อมของรถยนต์นั้นอาจใช้หลักของการตรวจเช็ครถยนต์สำหรับเดินทางไกล ซึ่งศูนย์บริการหรืออู่มาตรฐานจะมีรายการตรวจเช็คตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพียงเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนใดที่เริ่มสึกหรอ ควรได้รับการเปลี่ยน หรือซ่อมแซมก่อนออกเดินทาง ปัจจุบันในประเทศลาวมีศูนย์บริการ และอู่รถที่ได้มาตรฐานหลายแห่งแล้วก็จริง แต่ทั้งหมดจะอยู่ตามเมืองใหญ่เท่านั้น หากมีแผนการเดินทางที่มากกว่าการขับท่องเที่ยวในเมืองแบบปกติ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมกันพอสมควร ซึ่งสามารถสรุปรายการตรวจเช็ครถยนต์แบบคร่าวๆ ดังนี้
เช็คระบบเครื่องยนต์ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง กรองเครื่อง เมื่อใกล้ถึงระยะที่กำหนด ก่อนการเดินทาง
เช็คระบบสายพานต่างๆ เช่น สายพานเครื่องยนต์ สายพานแอร์ สายพานไทม์มิ่ง ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด หรือเปื่อยลุ่ย
เช็คระบบทำความเย็น ดูระดับน้ำยาแอร์ เมื่อสตาร์ทรถเปิดแอร์แล้ว น้ำยาแอร์จะต้องใส (ไม่มีสี) หากน้ำยาแอร์มีสีขาวขุ่น แสดงว่าน้ำยาแอร์มีไม่พอ ควรนำรถไปเติมน้ำยาแอร์เพิ่มทันที
เช็คระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ ดูปริมาณน้ำในหม้อน้ำ ถังพัก และสภาพของรังผึ้งหม้อน้ำ
เช็คระบบจุดระเบิด (หัวเทียน) และแบตเตอรี่ ดูปริมาณน้ำกลั่น และอายุการใช้งาน
เช็คคุณภาพของกรองอากาศ กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ดูปริมาณน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย
เช็คระบบเบรก ปริมาณผ้าเบรก น้ำมันเบรก ท่อน้ำมัน หม้อลมเบรก น้ำมันครัตช์
เช็คระบบช่วงล่างหน้า-หลัง ระบบขับเคลื่อน ยางเพลาขับ ลูกหมาก ยางกันฝุ่น คุณภาพของยาง และล้อ
เช็คระบบไฟภายในตัวรถ และไฟส่องสว่างนอกรถ ไฟหรี่ ไฟเบรก ฯลฯ
เครื่องมือฉุกเฉินประจำรถที่จำเป็นต้องมี เครื่องมือช่างประจำรถ ยางอะไหล่ สายพ่วงแบตเตอรี่ สายลากจูง ฟิวส์สำรอง ไฟฉาย ป้ายฉุกเฉินสะท้อนแสง (ในยามเกิดอุบัติเหตุ หรือยางแตก)
นอกจากนี้ในการตรวจตรารถระหว่างเดินทางเป็นประจำทุกวัน ก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น การเช็คแรงดันลมยาง การเช็คดูใต้ท้องรถ หรือการตรวจเช็คปริมาณน้ำมันต่างๆ ใต้ฝากระโปรงรถ เป็นต้น
ปั๊ม และสถานีบริการน้ำมันในประเทศลาว
เปิดให้บริการอยู่ทั่วไปในทุกๆ เมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้ ในขณะเดินทางระหว่างเมืองจะมีปั๊มน้ำมันให้บริการอยู่บ้างประปราย ดังนั้นควรเติมน้ำมันรถให้เต็มไว้เสมอเมื่อเจอปั๊มที่น่าเชื่อถือ ส่วนปั๊มน้ำมันที่คนไทยรู้จักนั้นจะมีเฉพาะปั๊ม
ปตท. (PTT) ที่มีสถานีบริการทั้งในเมืองใหญ่ และตามเส้นทางระหว่างเมืองต่อเมือง ส่วนของคาลเท็กซ์ จะมีเฉพาะเมืองใหญ่ (เมื่อเร็วๆ นี้ปั๊มเชลล์ทั่วประเทศลาวได้เปลี่ยนไปเป็นปั๊มยี่ห้อ VP ของประเทศเวียดนาม ดังนั้นในปัจจุบันจะไม่มีสถานีบริการของเชลล์ในลาวอีกต่อไป) แต่ทุกปั๊ม (ทุกยี่ห้อ) จะมีเฉพาะน้ำมันแบบ
เบนซิน 91 และ
น้ำมันดีเซล เท่านั้น
(ในประเทศลาวยังไม่มีแก็สโซฮอล หรือก๊าซ LPG, NGV ให้บริการ) ส่วนปั๊มอื่นๆ ในประเทศลาว ยังมีอีกมากมายหลายยี่ห้อ เช่น
ปั๊มน้ำมันเชื้อไฟลาว (เป็นของรัฐบาล ซึ่งจะมีสถานีให้บริการครบทั่วทุกแขวง และทุกเมืองในประเทศลาว) หรือ
ปั๊ม VP (เป็นบริษัทจากประเทศเวียดนาม)
ปั๊ม IP,
ปั๊ม PP ฯลฯ นักเดินทางควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันในปั๊มที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ หรือปั้มหลอดข้างทาง เพราะนอกจากราคาจะแพงกว่าการเติมในปั๊มน้ำมันปกติแล้ว อาจเจอน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ หรือน้ำมันปลอม ส่วนราคาน้ำมันในประเทศลาวโดยเฉลี่ยลิตรละ 40-45 บาท (สูงกว่าเมืองไทยเพราะต้องเสียภาษีนำเข้า) ซึ่งแต่ละแขวงราคาจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางความใกล้-ไกลจากสถานีนำเข้าต้นทาง ยิ่งแขวงหรือเมืองที่อยู่ไกลๆ ราคาน้ำมันจะแพงกว่าในเมืองหลวงอย่างเวียงจันทน์อยู่พอสมควร
เกร็ดควรรู้สำหรับการขับขี่รถในประเทศลาว - ปั๊มน้ำมันในลาวก็คือ ปั๊มจริงๆ มีขายแต่น้ำมัน จะไม่มีร้านอาหาร ร้านปะยาง หรืออู่ซ่อมรถอยู่ในปั๊ม แต่ปั๊มหลายแห่งมีตู้แช่เครื่องดื่มไว้คอยบริการ
- กฎหมายจราจร และการขนส่งทางทางบกของประเทศลาวฉบับที่เพิ่งออกมาใหม่ ระบุว่าห้ามรถทุกชนิดติดตั้งไฟสปอร์ตเพิ่มเติม หากตรวจพบจะถูกปรับ และต้องถอดออกทันที (ยกเว้นไฟสปอร์ตไลท์ตัดหมอกซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถจากโรงงานผู้ผลิต)
- ถนนส่วนใหญ่ในประเทศลาวจะเป็นแบบสองเลน (รถแล่นสวนกัน) ความเร็วที่ปลอดภัยจะอยู่ระหว่าง 30-50 กิโลเมตร/ ชั่วโมง (เส้นทางในภาคเหนือ ถนนร้อยละ 90 จะไม่มีไหล่ทาง, เส้นทางภาคใต้ ถนนส่วนใหญ่มีไหล่ทางเพียงแคบๆ)
- ในประเทศลาวโดยเฉพาะการขับขี่ระหว่างเมือง ถนนคือทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้าน คือเป็นทั้งสนามเด็กเล่น ที่เลี้ยงสัตว์ หรือลานตากพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ กรุณาลดความเร็ว และใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ขณะแล่นผ่านหมู่บ้านต่างๆ
- สะพานข้ามแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงในประเทศลาว ในเส้นทางภาคเหนือส่วนมากเป็นสะพานแคบ หากมองเห็นรถที่แล่นสวนมากำลังขึ้นสะพาน (โดยเฉพาะรถ 10 ล้อ หรือรถทัวร์โดยสาร) อีกฝั่งต้องจอดรอ เพราะรถไม่สามารถแล่นสวนกันบนสะพานได้ แต่เส้นทางภาคใต้สะพานจะมีขนาดกว้างกว่า สามารถวิ่งสวนกันได้ไม่มีปัญหา
- การขับขี่รถอยู่บนทางที่คดเคี้ยว (ภาคเหนือ) ทัศนวิสัยการมองเห็นไม่กว้างไกลโดยตลอด หากพบเห็นกิ่งไม้วางอยู่บนถนน เป็นระยะๆ แสดงว่าข้างหน้ามีรถจอดเสีย หรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นข้างหน้า ต้องชะลอความเร็ว ส่วนทางภาคใต้ทัศนวิสัยค่อนข้างเคลียร์เนื่องจากถนนส่วนใหญ่จะเป็นทางตรง
- หากท่านประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซด์ กฎหมายของลาวจะถือว่ารถใหญ่เป็นฝ่ายผิดเสมอ ดังนั้นควรระมัดระวังเมื่อเห็นรถมอเตอร์ไซด์กำลังจะออกมาจากซอย หรือจากทางร่วม ทางแยกต่างๆ
- หากต้องการจอดเพื่อพักรถ หรือพักผ่อนอิริยาบถ ต้องจอดในที่ชุมชน หรือในเมือง หากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าจอดพักรถข้างทางขณะวิ่งระหว่างเมือง โดยเฉพาะทางภาคเหนือซึ่งภูมิประเทศจะเป็นป่า และภูเขาสูง ประเทศลาวมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงก็จริง แต่บางจุดก็ยังมีความอ่อนไหว และยังมีข่าวการเคลื่อนไหวของกองกำลังชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นระยะๆ
- ระมัดระวังในการขับเข้าโค้งแบบหักศอก ซึ่งมีเหลี่ยมเขาบังทัศนวิสัยข้างหน้า เพราะท่านอาจเจอรถที่แล่นสวนมา แซงกันในทางโค้งได้อย่างเป็นเรื่องปกติ
- การขับรถผ่านทางแยก ทางร่วม (ที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร) ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ถึงแม้ท่านจะอยู่บนถนนซึ่งเป็น “ทางเอก” ก็ตาม
- การเดินทางในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหากต้องเดินทางผ่านทางบนภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ควรเผื่อเวลาในการเดินทางให้มากขึ้นเพราะถ้าฝนตก ท่านอาจเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้หลายรูปแบบ เช่น หมอกลงจัดจนไม่สามารถจะขับขี่ต่อไปได้, น้ำป่าจากภูเขากัดเซาะทางขาด หรือชำรุด, ดินภูเขาสไลด์ลงมาบนถนน จนไม่สามารถสัญจรไป-มาได้ ต้องจอดรอจนกว่าจะมีรถตักมาเกรดทางใหม่ ซึ่งบางทีอาจต้องเสียเวลาหลายชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
- การขับขี่รถทางไกลระหว่างเมืองในตอนกลางคืน ไม่ได้มีข้อห้าม และสามารถกระทำได้ แต่ผู้ขับขี่ควรมีประสบการณ์การขับรถในทางนั้นๆ มาก่อน หากเป็นประสบการณ์ครั้งแรก แนะนำว่าหลีกเลี่ยงจะดีกว่า
- ระหว่างทางหากรถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้หมู่บ้านก็ตาม หากต้องการขอความช่วยเหลือ ควรโบกรถที่เทียวทางไป-มาจะดีที่สุด (จากประสบการณ์ตรง คนลาวแทบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเห็นรถท่านเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ และต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาจะจอดรถ รีบลงมาช่วยเหลือท่านอย่างมีน้ำใจ และเต็มใจ) เพราะหมู่บ้านต่างๆ เหล่านั้นเป็นหมู่บ้านชนเผ่า ซึ่งภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารไม่ใช่ภาษาลาว! พวกเค้าอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านกำลังสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือ
- ขณะขับขี่รถทางไกล บนเส้นทางบางจุดที่ล่อแหลม อาจพบเห็นชายฉกรรจ์สะพานปืนอาก้า เดินอยู่ริมถนนในที่เปลี่ยว ซึ่งนักเดินทางหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกมาดักปล้นรถ แต่ที่จริงเป็น “ทหารบ้าน” (ภาษาลาวเรียก “กองหลอน”) ที่คอยป้องกันความสบ และดูแลความปลอดภัยให้กับรถที่สัญจรไป-มา บางครั้งอาจโบกรถท่าน เพื่อขอไปลงหมู่บ้านถัดไป หรือโบกเพื่อขอบุหรี่ ฯลฯ คงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักเดินทางแต่ละบุคคลว่าควรจะช่วยเหลือแค่ไหน, หรืออย่างไร