อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ (Tham Pla - Namtok Pha Suea)
พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ N19.50273 E98.00684
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่วนอุทยานถ้ำปลา และวนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งขวา ท้องที่อำเภอเมืองและกิ่งอำเภอปางมะผ้า และด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน แนวเทือกเขาจะทอดยาวตามแนวเหนือใต้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ ถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ ที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เหมาะสำหรับการไปพักผ่อนหย่อนใจอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีเนื้อที่ประมาณ 488 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,000 ไร่
ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2540 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-ผาเสื่อ โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 652/2528 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ลงวันที่ 10 เมษายน 2538 และคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 240/2539 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ให้นายพินิต สุวรรณรัตน์ ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่วนอุทยานถ้ำปลาและวนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
ผลการสำรวจได้รวบรวมพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติจำนวน 305,000 ไร่ หรือประมาณ 488 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาตินี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างแท้จริง และได้กันพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน ออกจากที่จะประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ประกอบกับทางอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการประสานงานกับ หน่วยงานอื่น อาทิเช่น ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด จึงไม่มีปัญหามวลชนแต่อย่างใดและต่อมา คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 ซึ่งมีนายสมเจตน์ วิริยะดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
ปัจจุบันคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-ผาเสื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ขนาดพื้นที่394120.00 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนแนวเทือกเขาจะทอดยาวตามแนวเหนือใต้ มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยลาน ดอยตองหมวก ดอยกิ่งกอม ดอยแหลม ดอยปางฮูง ดอยหน้าแข้งช้าง ฯลฯ ดอยลานเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,918 เมตร จากระดับน้ำทะเลความสูงของพื้นที่ 300-1,900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ความสูงเฉลี่ยประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล และอยู่ในเขตลุ่มน้ำหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ ลุ่มน้ำปาย แม่น้ำของ น้ำแม่สะงา และน้ำแม่สะงี
ลักษณะภูมิอากาศจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อน เฉพาะฤดูกาลตามการจำแนกภูมิอากาศของ Koppen แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทะเล และมหาสมุทรทำให้อากาศชุ่มชื้น และมีฝนตกชุก โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบปี ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นเดือนที่เกิดหมอกมากที่สุดประมาณ 21-26 วัน ส่วนมากเกิดในตอนรุ่งเช้า ส่วนฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยเฉพาะเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี
พืชพันธุ์และสัตว์ป่าทรัพยากรป่าไม้
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวจากเหนือจดใต้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อกระทบกับเทือกเขาขวางอยู่ ทำให้พื้นที่ได้รับปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีป่าหลากหลายชนิดเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมากขึ้นตามไปด้วย และพื้นที่บางแห่งเคยเป็นโครงการทำไม้มาก่อน จึงทำให้สังคมพืชชั้นล่างเปลี่ยนไปบ้าง ชนิดของป่าที่พบในพื้นที่สามารถจำแนกชนิดป่าได้ 6 ประเภท ดังนี้
1. ป่าผสมผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30% พบบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา และที่ลาดชันตามไหล่เขา ตลอดจนบริเวณริมลำห้วยทางตอนเหนือ และตอนกลางของพื้นที่ จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพดินค่อนข้างลึก-ปานกลาง ช่วงฤดูแล้งเกิดไฟป่าลุกลามไปตามพื้นดิน พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ทนไฟ โครงสร้างของป่าแบ่งเป็น 3 ชั้นเรือนยอด การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ชนิดไม้สำคัญได้แก่ ตะแบก ประดู่ มะค่าโมง แดง ไทร งิ้วป่า ฯลฯ เป็นต้นนอกจากนี้ยังพบไม้ไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก
2. ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest) เป็นป่าประเภทไม่ผลัดใบ ส่วนใหญ่จะเป็นผืนป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35% สภาพดินค่อนข้างลึก มีความชุ่มชื้นสูง โครงสร้างของป่าแบ่งออกเป็น 3 ชั้นเรือนยอด การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ความหนาแน่นของหมู่ไม้ ชนิดไม้สำคัญ ได้แก่ ยาง ประดู่ ตีนเป็ด ไม้จำพวกวงศ์ไม้ก่อ นอกจากนี้ตามพื้นล่างจะพบ หวาย ขิง ข่าป่า และเฟินมากมาย
3. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) เป็นป่าผลัดใบพบตามสันเขา และตามบริเวณที่ลาดชัน ที่ระดับความสูงประมาณ 300-900 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นทีประมาณ 15% สภาพดินค่อนข้างตื้น มีก้อนหินโผล่ และกรวด-ลูกรังปน ช่วงฤดูแล้งเกิดไฟไหม้ป่า เป็นประจำทำให้พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่แคระแกรน โครงสร้างของป่ามีเพียง 2 ชั้น การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติไม่ค่อยดีนัก ชนิดไม้สำคัญได้แก่ เต็ง รัง ตะแบกนา มะค่าแต้ ฯลฯ
4. ป่าสนเขา (Pine Forest) เป็นป่าที่พบในบริเวณพื้นที่ที่มีความสูงประมาณ 200-1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5% ลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีทั้งสนสองใบ และ สนสามใบ และส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง ไม้พื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา
5. สวนป่า (Forest Planation) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10% ได้แก่ สวนป่าหมอกจำแป่-แม่สะงา, โครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม), โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง),โครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง (1) และ (2) และสวนป่าห้วยผา พันธุ์ไม้ที่ใช้ในการปลูก ได้แก่ สัก สนสามใบ คูน เป็นต้น
6. ป่าเสื่อมโทรม (Distarbed Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5% พื้นที่เหล่านี้ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร แต่ปัจจุบันทางราชการได้ผลักดันออก และปัจจุบันราษฎรได้ปล่อยทิ้งร้างจนสภาพป่าเริ่มฟื้นคืนสภาพ คาดว่า ถ้าไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม หรือแผ้วถางป่าซ้ำ พื้นที่เหล่านี้จะกลับเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ต่อไป
เนื่องจากพื้นที่มีป่าหลากหลายชนิด มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ คือ อีกไม่นานสังคมพืชและสัตว์ในระบบนิเวศวิทยาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
ทรัพยากรสัตว์ป่า
จากการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่า ข้อมูลส่วนใหญ่จากการพบสัตว์ป่าโดยตรง ประกอบกับการพบร่องรอยของสัตว์ ตลอดจนการสอบถามราษฎรที่อยู่โดยรอบพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทราบถึงชนิด ความชุกชุม และสถานภาพ ตลอดจนชีววิทยาบางประการ แยกออกได้ ดังนี้
นก จำนวน 123 ชนิด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 30 ชนิด
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 5 ชนิด
สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 30 ชนิด
ปลาน้ำจืด จำนวน 20 ชนิด
แมลง จำนวน 200 ชนิด
สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อข้อมูลทั่วไป...
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีพื้นที่ป่า ชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์
สภาพภูมิประเทศ
เป็นแนวเทือกเขาหลายเทือกสลับเป็นลูกคลื่นต่อเนื่องไปจนจดชายแดนพม่าทางด้านทิศเหนือ มีความลาดชันมาก จุดสูงสุดเป็นยอดเขาดอยลาน สูงประมาณ 1,918 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาณาเขตทิศเหนือจดรัฐฉาน สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทิศใต้จดห้วยหมากอื้นและห้วยผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันออกจดลำน้ำของ กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันตกจดรัฐฉาน สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า
สภาพภูมิอากาศ
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์มกราคมเป็นช่วงที่เกิดหมอกมากที่สุดประมาณ 21 - 26 วัน ส่วนมากเกิดตอนรุ่งเช้า
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วโดยเฉพาะเดือนเมษายน
น้ำตกผาเสื่อข้อมูลทั่วไป...
น้ำตกผาเสื่อเกิดจากลำน้าแม่สะงา เป็นตกสูงประมาณ 15 เมตร ในช่วงฤดูฝนน้ำจะไหลเต็มหน้าผากว้าง ทำให้มีรูปร่างคล้ายปูผืนเสื่อ จึงเรียกน้ำตกนี้ว่า "น้ำตกผาเสื่อ" ในฤดูแล้งจะมีน้ำน้อย ทำให้เห็นหินที่สวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ
ที่ตั้งและแผนที่สถานที่ติดต่อ : 70 หมู่ 1 ต.ห้วยผา อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน 58000
โทรศัพท์ : 085-7066663, 053-692055
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายวีระชัย มงคลพันธ์การเดินทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่อยู่เขตภาคเหนือ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย
การเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถเดินทางได้ 2 วิธี คือ
เครื่องบินการเดินทางโดยเครื่องบินสายการบินไทย “เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน” มีเที่ยวบินทั้งหมด 4 เที่ยวบิน แล้วเหมารถรับจ้างมายังพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งห่างจากตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพียง 18 กิโลเมตร
รถยนต์การเดินทางโดยรถยนต์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน มาทางอำเภอฮอดเข้าอำเภอแม่สะเรียงผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอขุนยวม เข้าไปยังอำเภอเมือง ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตรและโดยทางหลวงหมายเลข 108 อีกเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติฯ หรืออีกทางมาทางอำเภอแม่แตง ก่อนจะถึงอำเภอแม่แตงก็จะเลี้ยวซ้ายทางบ้านแม่มาลัย เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 ผ่านอำเภอปาย ก่อนจะถึงอำเภอเมือง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 192-193 ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถ้ำปลา ซึ่งอยู่บริเวณริมเส้นทางดังกล่าวระยะทางประมาณ 280 กิโลเมตร และใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง
พิกัดGPS อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ N19.50273 E98.00684ที่มาข้อมูล...ขอบคุณwww.park.dnp.go.th/9117-อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ